Saturday, November 17, 2012

นมัสการ พระพุทธบาทห้วยต้ม

จากเจดีย์ไปสุดหมู่บ้าน ก็คือวัดพระพุทธบาทห้วยต๋ม
ที่นี่เป็นวัดใหญ่อย่างน่าประหลาดใจ และมีสิ่งก่อสร้างสวยๆ ให้ชมมากพอสมควร
สังขารของ ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ยังเก็บไว้อยู่ในโลงแก้ว ให้คนได้นมัสการ










แวะนมัสการ พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย

เลย อ. ลี้ และ รพ. ลี้ จะเจอป้ายทางเข้า วัดพระพุทธบาทห้วยต๋ม ตำบลนาทราย อยู่ในหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ผู้เคร่งในศีล และกินอาหารมังสวิรัติ ถ้าดูจากแผนที่ จะเห็นว่า ถนนหนทางดูเป็นตาตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆ อย่างกะในสหรัฐ ผมไม่คิดว่ามีเมืองไหน จังหวัดไหนในประเทศไทย มีผังเมืองดีเรียบร้อยอย่างนี้ ถ้ากรุงเทพฯ มีผังเมืองแบบนี้ รับรองว่าติดน้อยกว่านี้แยะ

ที่หมู่บ้านนี้ มีพระเจดีย์หุ้มทองคำขนาดใหญ่ชื่อ พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย สร้างโดย ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เร่ิมก่อสร้างมาหลายสิบปีแล้ว แต่เพิ่งเสร็จ (ดูเหมือน พ.ศ. ๒๕๔๙) เมื่อราว ๖ ปีมานี้

ทางเข้าสู่พระเจดีย์มีเสา บนหัวเสาเป็นรูปวัว ทาสีทอง จำนวนมากเรียงรายไป จนถึงหน้าลานหน้าประตูทางเข้าเจดีย์ ไม่ทราบว่าครูบาท่านเกิดปีฉลูหรืออย่างไร เดาเอานะ

จากนั้นมีซุ้มประตูใหญ่ บนซุ้มประตูทั้งสองข้างมีรูปช้างเจ็ดเศียร และขุนศึกถือของ้าวบนคชาธาร ทาสีทองอีกเช่นกัน

หน้าลานพระเจดีย์มีศาลามุงจาก ดูเหมือนชาวกะเหรี่ยงเอาใบยาสูบมาตากแดดอยู่บ้าง อาจจะกำลังเตรียมงาน พระ เณรพูดจาภาษากะเหรียงกัน กำลังทำงานกันอยู่ก็มี

ผมเดินเข้าไปชมพระเจดีย์ เมื่อเดินเข้าไปในลานด้านในบริเวณรอบเจดีย์ เสียงระฆังใบจิ๋วจำนวนมากบนเจดีย์โดนลมพัด เสียงกุ๊งกิ๊งไพเราะดีมาก ดูเจดีย์หุ้มทองคำแล้วก็ชื่นใจในศรัทธาของคนผู้บริจาคทรัพย์จำนวนมาก เพื่อสร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่ เข้าใจว่า เขาต้องการเทียบชั้นกับเจดีย์ชเวดากองของพม่าที่หุ้มทองเหมือนกัน(ลอกทองคำไปจากเมืองไทยหลังเสียกรุงศรีอยุธยา)

ผมบริจาคเงินทำบุญไปเล็กน้อย เพื่อวัตถุประสงค์สร้างศาลา ต่างๆ









แวะนมัสการ พระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่

ผมเดินทางต่อไปยัง วัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่ เมื่อถึงบ้านป่าไผ่ หากมาจากทางเหนือ วัดนี้อยู่ในถนนซอยขวามือ มีป้ายบอกปากทาง เข้าไปสักกิโลเมตรหนึ่ง

ผมเห็นว่า กำลังสร้างโบสถ์ยังไม่เสร็จ เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมทราบว่ามีกฐินมาจากกรุงเทพฯ โดยพระอาจารย์เล็กท่านนำคณะมา แต่ผมติดธุระไม่ได้มาด้วยช่วงนั้น ก็นึกอย่างจะร่วมบริจาคด้วย แต่ไม่เห็นมีตู้รับบริจาคเพื่อการนี้โดยเฉพาะที่ไหน

ก็เลยเดินเลยไปทางภูเขา เพื่อไปชมถ้ำ และ นมัสการพระพุทธบาทบนเขา ได้ทราบว่า ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านระบุว่า เป็นของจริง

นอกจากนี้ บริเวณนี้ก็เคยเป็นที่ที่คนสมัยโบราณเคยหนีภัยสงครามมาหลบภัย ภายในถ้ำมีขนาดกว้างขวาง (แต่ผมไม่ได้เข้าไปชม) พระรูปหนึ่งท่านบอกว่า พื้นที่ในโพรงถ้ำกว้างมาก ประมาณว่าเป็นไร่










ในวันที่ผมไปคราวนี้ ไม่ค่อยมีคน กำลังจะกลับแล้วผมก็ได้มีโอกาสเจอ ตุ๊ป้อ (หลวงพ่อ) มหาสิงห์ โดยบังเอิญ จึงได้ถวายเงินจำนวนหนึ่งร่วมสร้างโบสถ์ตามความตั้งใจ และอื่นๆ ใส่กล่องบริจาคอีก พอบอกว่าชอบฟังเสียงท่านเทศน์ ท่านได้เมตตาให้ DVD มา ๒ แผ่น

หลวงพ่อบวชที่วัดท่าซุง หลวงพ่อฤาษีฯ ส่งท่านมาอยู่นี่ ผมเข้าใจว่า เจตนาหลวงพ่อฯ ก็เพื่อให้มาดูแลรอยพระพุทธบาท ผมมีความรู้สึกว่าท่านเป็นพระที่ดีองค์หนึ่ง

ผมเคยได้ยินมาว่านักการเมืองท้องถิ่นพยายามจะถอนการใช้พื้นที่ สปก. บริเวณพระพุทธบาทจากทางวัด เพื่อยึดเอาไป อ้างว่าจะไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็รู้สึกสงสัยว่า ชาวพุทธจะไว้ใจได้แค่ไหนว่า พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ จะบริหารจัดการได้ดีโดยนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งอาจจะศีล ๕ ไม่ครบ หรือ โดยระบบราชการที่ทำงานตามเอกสารในกระดาษ



แวะนมัสการ พระพุทธบาทตะเมาะ


เช้า ผมขับรถออกจากลำพูน ขับลงใต้ไป อ. ลี้  ทางเส้น 106 หลังผ่าน บ้านโฮ่ง ศรีวิชัย และ แม่ตืน ก็เจอแยกเส้น 1103 ขับรถเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ ๙ ก.ม.  ทางดีพอควร เส้นนี้แทบไม่มีรถวิ่งเลย ทางนี้ถ้าเลยไปก็จะไปถึง ดอยเต่า แต่ผมไม่ได้จะไปนั่น คราวนี้จะแวะไปแค่ วัดพระพุทธบาทตะเมาะ ฤดูนี้อากาศเย็นกำลังดี ต้นไม้ก็ยังเขียวขจีเพราะฝนเพิ่งจะหยุดไป ออกจากเขต อ. ลี้ จ. ลำพูนไปไม่กี่กิโลเมตร เข้าเขต อ. ดอยเต่า จ. เชียงใหม่ก็ถึงวัด

หน้าวัดมีซุ้มประตูสร้างใหม่ เข้าไปแล้ว เป็นถนนโรยกรวด ทั้งถนนก่อนเข้าวัด และในบริเวณวัดสะอาดมาก พระท่านดูแลเก็บกวาดใบไม้เป็นอย่างดี

ผมจอดรถที่ลานด้านล่าง แล้วเดินขึ้นบันไดไปยังเนินชั้นบน เป็นวัดเงียบมาก ได้ทราบจากโยมถือผ้าขาวว่า มีพระอยู่ ๔ รูป ต่างแยกไปปฏิบัติธรรมกัน วัดนี้เป็นสายของครูบาขาวปี ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา แกถามว่าผมจะค้างหรือไม่ ผมบอกว่าไม่ได้วางแผนไว้ จะไป อ. ลี้ วัดพระพุทธบาทห้วยต๋ม แต่ในใจคิดว่า วัดนี้บรรยากาศสัปปายะ น่าสนใจ ถ้ามีโอกาสมาปฏิบัติได้ก็ดี คนที่นี่กินวันละมื้อตามพระ เป็นมังสวิรัติด้วยตามวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

ผมบริจาคเงินเล็กน้อยใส่ตู้สองแห่ง (เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป และ สมทปทุนสร้างเจดีย์ ๔ ครูบา) แล้วผมขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทบนมณทปทรงปราสาทสีขาวที่สร้างครอบไว้ บนนั้นมีพระพุทธรูปประธานเป็นหินอ่อนตั้งอยู่บนบุษบกไม้ ถวายพระนามสลักไว้ว่า พระพุทธรัตนมุนี เอกูนวีสสิริมงคลนวพงศ์ศิริ เป็นปางสมาธิ ทรงเครื่องจักรพรรดิ บนพระเพลามีลูกแก้วใบโตวางอยู่ด้วย แปลกตาดี ผมกลับไปค้นได้มาว่า เอกูนวีส แปลว่า ๑๙ เดาว่าคงสร้างฉลองครบรอบอะไรสักอย่าง ๑๙ ปี ละกระมัง รอยพระพุทธบาทมีขนาดใหญ่เป็นรอยบนแผ่นหิน ในแอ่งที่กั้นรั้วไว้ เบื้องหน้าพระประธาน









Wednesday, November 07, 2012

เจอร้านค้าเลือกปฏิบัติ คิดราคาลูกค้าไม่เท่ากัน


ร้านบางร้านมีวิธีปฎิบัติที่แปลกๆ คือ คิดราคาค่าบริการคนที่ไม่ใช่ลูกค้าประจำต่างออกไปจากลูกค้าประจำ

เขาอาจจะต้องการให้กลุ่มลูกค้้าประจำของเขารู้สึกว่าได้รับบริการเป็นพิเศษ สำหรับคนไฮคลาส เศรษฐีว่างั้น  ในราคาที่ต่ำเป็นพิเศษกว่าลูกค้าขาจร (ซึ่งคงมีไม่มากนักที่หลงเข้ามาติดกับดักนี้) ลูกค้าประจำจะได้รู้สึกดีว่าได้สิทธิพิเศษ

แต่ว่าวิธีการเช่นนี้ เป็นการปฏิบัติแบบสองมาตราฐาน ซึ่งไม่ทำให้คนที่กำลังจะมาเป็นลูกค้าใหม่รู้สึกดี วิธีนี้เท่ากับไล่คนที่จะเป็นลูกค้าขาจรไปเสียโดยทางอ้อม และคนพวกนี้ก็จะไม่กลายมาเป็นลูกค้าขาประจำต่อไป ผมคิดว่า ถ้าคนที่เดินเข้าไปฉลาดพอ เขาก็จะไม่ใช้บริการ

เมื่อหลายวันก่อน ผมต้องการเช็คยางคู่หน้าของรถยนต์ของผมว่าถ่วงดุลย์ดีหรือเปล่า เพราะมีปัญหาพวงมาลัยสั่นที่ความเร็วสูง โดยการทดสอบที่ความเร็วสูง แต่ร้านยางที่ผมซื้อยางใช้อยู่ใกล้บ้านไม่มีอุปกรณ์ และเขาแนะให้ไปอีกร้านหนึ่ง แถวพหลโยธิน ซึ่งร้านนั้นผมก็เคยใช้บริการนานมาแล้ว ผมก็ไปลองติดต่อดู ปรากฎว่าเขาจะคิดราคาต่อล้อแพงมาก เพียงเพราะผมไม่ใช่ลูกค้าซื้อยางจากเขา (ผมเคยซื้อยางจากเขาหลายๆ ปีมาแล้ว แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นลูกค้าเขาอีก) ราคาเช็คต่อล้อก็แพง เขาบอกเองมาตรงๆ บวกกับเงื่อนไขที่ต้องเช็คทั้ง ๔ ล้อ ไม่ยอมเช็คให้แค่ตามที่ผมต้องการเพียง ๒ ล้อหน้า เขาอ้างว่าเป็นมาตราฐานของร้าน แม้ว่าอัธยาศัยของพนักงานร้านหรือผู้จัดการร้านนั้นจะดีก็เถอะ แต่ก็ทำให้ผมตัดสินใจไม่เช็ค ผมก็เลยกลับมาร้านเดิมใกล้บ้านอีกครั้ง ทำการถอดล้อมาถ่วงที่เครื่องความเร็วต่ำนอกตัวรถตามปกติ แล้วปัญหาพวงมาลัยสั่นก็หมดไป เขาทำให้ฟรีด้วยซ้ำ 

การตัดสินใจที่เหมาะสม ทำให้ผมประหยัดเงิน และที่สำคัญคือเวลาไปได้

แต่สิ่งที่ผมต้องการบันทึกไว้ก็คือ ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีปฏิบัติ ๒ ราคานี้ (2-tier pricing)

เมื่อต่างชาติเข้ามากำหนดค่าทางจริยธรรมของสังคมท้องถิ่น


มีข่าวน่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือ แอปเปิล ตัดสินใจเซ็นเซ่อร์อีบุ้ค ภาษาแดนิช ซึ่งอีบุ้คนี้เป็นการทำซ้ำหนังสือที่เคยตีพิมพ์มานานแล้ว หนังสือที่ว่านี้เป็นหนังสือภาพ ที่มีภาพเปลือยของพวกฮิปปี้เป็นหลัก

ประเด็นที่ผู้ตีพิมพ์เด็นมาร์กคัดค้านก็คือการที่ บริษัทต่างประเทศซึ่งเป็นผู้ประกอบการหลัก(ในโลก) มาเป็นผู้กำหนดว่าอีบุ้คแบบไหนที่จะมีขายได้ในเดนมาร์ก (คือเป็นการเอาความคิดแบบอเมริกัน มาตัดสิน จริยธรรมที่ยอมรับกันได้ในสังคมเดนมาร์ก)
ประเด็นที่ผมจะพูดให้ความเห็นไม่ได้เกี่ยวกับเมืองไทยโดยตรง และผมไม่ได้เห็นดีเห็นงามไปกับค่านิยมแบบนี้ แต่ว่าผมให้ความสำคัญกับมาตราฐานทางจริยธรรมที่แต่ละสังคมท้องถิ่นมีและตัดสินใจใช้ ไม่ว่าผมจะชอบหรือไม่ก็ตาม 

ผมว่านี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของอิทธิพลต่างชาติ (ไม่ว่าจะเป็นบริษัทข้ามชาติ รัฐบาลต่างชาติ องค์กรนานาชาติ ข้อผูกพันสนธิสัญญาระหว่างประเทศ หรืออะไรก็ตาม) ที่กำลังตีกรอบวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมในประเทศอื่นๆ ด้วย

Sunday, November 04, 2012

From Thai news: Thai Monks boycott chairman of National Broadcast and Telecom Commission


From the news, a national conference of 2,200 forest Buddist monks announced a total boycott on chairman of the National Broadcasting and Telecommunication Commission of Thailand (NBTC) on the ground that he used a double standard judgement, with regarding to his signed order from NBTC forcing local donation-based Buddhist radio stations to reduce their transmission powers wheras commercial stations (mostly airing western-oriented musics) have been exempted from doing so. The Sangha (monk's conference) urged all monks and laypersons nationwide to excommunicate him.  The total boycott by the monks' community, an excommunication, is the most severe form of social penalty against misbehaved individuals in Buddhism.  The boycott, signed by a senior forest monk, would be lifted only after the chairman rescinded the order.

(p.s. I take side with the monks.)


ทอดกฐินปราสาทดิน

วันนี้มีงานทอดกฐินที่ วัดปราสาทดิน ใกล้ถ้ำวัวแดง อ. ภักดีชุมพล จ. ชัยภูมิ หลวงพ่อ เจ้าคุณ พระราชภาวนาวราจารย์ (ชาวบ้านมักเรียนท่านว่า หลวงปู่ศี หรือ หลวงพ่อบุญมา) รองเจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานสงฆ์

ผมเพิ่งไปถึงเมื่อคืนวาน ได้เจอปรากฎการณ์พิเศษผิดไปจากปกติไม่เคยเห็นคือ  ๑ มีรถแยะมาก จอดอยู่ตามริมถนนในป่าทางเข้าสู่ปราสาทตั้งแต่เรือนไม้ตะเคียนขึ้นมา  ๒ มีเครื่องปั่นไฟในงาน ให้ความสว่างไสวจนถึง ๓ ทุ่มครึ่ง และติดสว่างอีกทีตอนตีสาม คนส่วนหนึ่งมาเตรียมโรงทานตั้งแต่เมื่อวานแล้ว

ผมต้องเข้าไปปันห้องนอนร่วมกับน้องๆ ผู้ชายอีก ๒ คน โชคดีไม่มีใครกรนดัง รวมทั้งห้องข้างๆ และโถงชั้นล่างก็โอเค (ส่วนของตัวเองไม่รู้ เพราะไม่ได้ยิน)

ผมตื่นตี ๓ สวดมนต์ทำวัตรเช้า เสร็จแล้วฟังหลวงพ่อเทศน์สดอีก ๑ ชั่วโมง เลยไม่มีเดินจงกรม นั่งกัมมัฏฐาน เช้ามืดวันนี้

รุ่งสว่าง ผมเข้าไปกราบถวายบริจาคของครอบครัวเพื่อสมทบทุนสร้าง มหาวิทยาลัยสงฆ์ชัยภูมิกับหลวงพ่อ และถวายน้ำผึ้งโครงการหลวงอีก ๒ ขวด

พอได้เวลาใส่บาตรวันนี้คนมาอีกแยะมาก กับข้าวก็เต็มโต๊ะ ประเคนกับข้าวยกโต๊ะเลย

ส่วนเงินกฐินของผมและเพื่อนๆ ที่ฝากมาร่วมทำบุญ เอาไปใส่ในโพงพาง (ใช่หรือเปล่า หรือว่าเขาเรียกอย่างอื่น) เป็นบริวารกฐิน คนจำนวนเป็นร้อยเข้าคิวรอประเคนจีวรถวายหลวงพ่อในปราสาท ผมไม่ได้เห็นความจำเป็นต้องไปเข้าคิวถวายด้วยตามชาวบ้าน

ได้ยินว่า เสร็จงานทอดกฐิน พระหนุ่มๆ ลาสิกขาทันที ๓ รูป (เจอแบบนี้น่าจะทุกวัด) แต่ได้ครบ ๓ เดือนก็โมทนาแล้ว จากนั้นหลวงพ่อก็คงจะไปค้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ตามปกติในวันจันทร์ อังคาร












งานเทศน์มหาชาติ

เมื่อวาน ไปร่วมเป็นเจ้าภาพเทศน์มหาชาติกับเพื่อนๆ วันเดียวครบ ๑๓ กัณฑ์ ที่วัดทองบ่อ บางปะอิน อยุธยา เป็นวัดไทยแบบมอญ
สวดยะถาสัพพีเป็นสำเนียงมอญด้วย ดังวีดิโอข้างล่าง




ภาพสังเขปการตกแต่งในงานพิธี มีดังข้างล่าง โปรดสังเกตว่าต่างจากงานบุญอื่นๆ