Friday, May 19, 2017

มาริษาราตรี

วันนี้อยากจะเขียนบันทึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเพิ่งอ่านจบ ไม่ได้จะรีวิว เพราะไม่มีภูมิพอ แค่จะให้ความเห็น บันทึกความรู้สึก(ของนักอ่านวัย ๖๐ ) แค่นั้นเอง

มาริษาราตรี แปลจาก Jasmine Night ของ S.P. Somtow (หรือ สมเถา สุจริตกุล), แปลเป็นภาษาไทยโดย ถ่ายเถา สุจริตกุล, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๘ สำนักพิมพ์มติชน, (แรกตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารแพรว ถึง ๕๒ ปักษ์ หรือกว่า ๒ ปี ก่อนรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๓๙) แต่ดูเหมือนมีการตีพิมพ์หลังจากนี้หลายครั้งแล้ว.

ปกติผมไม่อ่านนวนิยาย, นอกเหนือจากหนังสือหรือบทความวิชาการ มักอ่านสารคดี (non-fiction) เป็นหลัก. มาริษาราตรี เป็นหนึ่งในหนังสือไม่กี่เล่มที่เป็นข้อยกเว้น, ส่วนหนึ่ง ที่ซื้อมาก็ด้วยชื่อเสียงของผู้ประพันธ์, ซึ่งนักวิจารณ์ยกย่องกันมากในอังกฤษและอเมริกา. เล่มนี้ ผมซื้อมาหลายเดือนแล้ว ไปเจอโดยบังเอิญจากร้านมือสอง แต่ถ้านับจากปีที่พิมพ์ครั้งที่ ๒ หนังสือเล่มนี้ก็อายุราว ๑๘ ปี. เป็นนวนิยายที่แปลจาก Jasmine Night ของ สมเถา สุจริตกุล ซึ่งคนแปลเป็นคุณแม่เขา.


สมเถาเป็นนักประพันธ์ระดับโลก, ศึกษาในประเทศอังกฤษ ได้รับรางวัลมากมาย, แน่นอนว่าเขาแต่งได้ดีมาก, อ่านแล้วขำตลอด. เรื่องที่เขียนนั้น, เขาเขียนในฐานะนักเขียนฝรั่ง, เจตนาเขียนเป็นนวนิยายให้คนหนุ่มสาวฝรั่งอ่าน. มีบทไล่ปล้ำกันบ่อย น่าจะติดเรต R เด็กฝรั่งอ่านได้แต่ผู้ใหญ่ไทยก็อ่านดี.

เนื่อเรื่อง เกิดในราว พ.ศ. 2500-2506 ฉากคือกรุงเทพฯ ในยุคนั้น เรื่องราวส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ชีวิตเขาซึ่งเป็นเด็กไทยที่เติบโตและศึกษาในต่างประเทศ มีจินตภาพมาก ติดใจวรรณกรรมกรีก ความคิดแฟนตาซี พระเอกตัวละครในเรื่องซึ่งเป็นเด็กไทยอายุ ๗ ขวบ มีช่วงหนึ่งกลับมาอยู่พระนครกับญาติผู้ใหญ่ไฮโซชาวไทยห่างไกลจากพ่อแม่ ชีวิตเขามีแต่เรื่องผจญ ซุกซนแบบเด็กฝรั่ง มีเรื่องโอละพ่อตลอด ความสนุกของเรื่องอยู่ที่ฉากหักมุมต่างๆ ในชีวิตของเด็กที่ไม่เคยรู้ "เรื่องของผู้ใหญ่" และกำลังโตเป็นวัยรุ่น จนอายุ ๑๓ ปี ถึง "เสียหนุ่ม" แม้หนังสือจะเล่มค่อนข้างโต แต่เดินเรื่องเร็ว อ่านได้เรื่อยๆ แทบวางไม่ลง.

ในฐานะที่ผมเป็นคนร่วมสมัยกับผู้เขียน อายุอาจจะอ่อนกว่าผู้แต่งไม่กี่ปี เลยสังเกตเห็นและจับผิดเรื่องปลีกย่อยในฉากได้แยะ สิ่งต่างๆ อยู่ผิดกาลเวลาไปบ้าง เช่น เมืองไทยยุคนั้นตามยังสี่แยกไม่มีไฟแดง มีแต่ตำรวจจราจรสวมหมวกพลาสติกคล้ายหมวกกะโล่โบกรถ รถเก๋งต่างๆ รวมทั้ังแท็กซี่ก็ไม่มีแอร์ปรับอากาศมีแต่กระจกหูช้างไว้กวักลมเข้า เดือนมกราคม เมืองไทยยังอยู่ในหน้าหนาว (และสมัยนั้นกรุงเทพฯ อุณหภูมิตอนเช้า ๑๐ องศา ซ.) ยังไม่มีมะม่วงสุกออกมาบนต้น และ ฯลฯ แต่พวกนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย คนเขียนตั้งเป้าให้ฝรั่งอ่านก็คงต้องใส่ลงไป ไม่งั้นก็ไม่มีบรรยากาศตะวันออก และเมืองไทยอาจจะดูล้าหลังเกินไปในสายตาของคนอ่านฝรั่ง อีกเรื่องก็เขาที่พูดถึงสงครามเวียดนาม ซึ่งอันที่จริงอเมริกาเข้าสงครามเวียดนามเต็มตัวในยุคประธานาธิบดีจอห์นสัน แต่ในบทประพันธ์เป็นเรื่องเล่าเหตุการณ์สมัยประธานาธิบดีเค็นเนดี้ และจอมพลสฤษดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งอยู่ช่วงเวลาก่อนหน้ายุคของประธานาธิบดีจอห์นสันอยู่ไม่กี่ปี ทหารอเมริกันยังไม่เข้ามาเมืองไทยมากนัก. ที่ผมพูดถึงเรื่องพวกนี้ เพราะต้องการจะหมายเหตุข้อเท็จจริงในเชิงประวัติศาสตร์เอาไว้เทียบ ไม่ได้จะติเรื่องราวในนวนิยาย.

ผมเข้าใจว่าผู้แต่งคงตั้งใจฝากประเด็นเรื่องการแบ่งแยกชนชั้นเอาไว้ให้เยาวชนคนอ่านชาวตะวันตกได้คิด, ทั้งระหว่างชาวตะวันตกเจ้าอาณานิคมและชนพื้นเมืองจากเหตุการณ์ในโรงเรียนนานาชาติสมัยนั้น, ระหว่างชนชั้นสูงในสังคมตะวันออกและคนรับใช้ จากสภาพความเป็นอยู่หรูหราในครอบครัวขุนนางไทยของตัวละคร, และสีผิว (คนผิวดำ คนผิวสี และ คนผิวขาว) ช่วงเวลานั้นทหารอเมริกันมีทหารผิวดำเข้าประจำการและมีนายทหารผิวดำด้วย (สมัยนั้นคำนี้ไม่ถือว่าไม่เหมาะสม แม้ตอนนี้นิยมใช้คำว่า อัฟริกันอเมริกัน หรือไม่ก็ใช้รวมๆ กับชาวเอเชียและฮีสแปนิก ที่แปลกันว่า ผิวสี แต่ผมขอใช้คำในบริบทของยุคเก่าก็แล้วกัน) ผมเดาว่า ที่เขาพูดถึงสงครามเวียดนามเพราะต้องการสร้างตัวละครเด็กผิวดำขึ้นมาผูกเรื่องความขัดแย้งระหว่างเด็กเชื้อชาติต่างๆ ในโรงเรียนนานาชาติ ผมเชื่อว่าเยาวชนตะวันตกที่อ่านน่าจะได้ข้อคิดกลับไปว่า พวกเขาไม่ควรจะแบ่งแยกเรื่องเหล่านั้น. คนตะวันตกไม่ได้เหนือกว่าชาวเอเชียและชาวผิวดำ ประเด็นนี้อาจจะจับใจนักวิจารณ์หนังสือฝรั่งก็ได้.

ผู้แปลคือคุณ ถ่ายเถา สุจริตกุล, คุณแม่ของผู้แต่ง, เป็นสตรีมีการศึกษา และเป็นภริยาฑูต ถ้าเทียบวัยก็อยู่ในวัยเดียวกับมารดาของผม ช่วงนี้คงอยู่ในวัย ๙๐+ ปี อีกทั้งท่านฑูต ดร. สมปอง, บิดาของผู้แต่ง, ก็คอยติชมสำนวนแปลอยู่ด้วย จึงทำให้การแปลสำนวนเป็นไทยดีมากทีเดียว ผมคิดว่าสำนวนแปลและเรียบเรียงของคุณถ่ายเถาดีกว่าสำนวนแปลนิยายสมัยนี้ แต่เนื่องจากเธออาศัยอยู่ต่างประเทศเป็นหลัก บางคำที่ถอดเสียงออกมาก็เขียนไม่ตรงกับที่คนไทยในยุคนั้นออกเสียง เช่น ไบรล์ครีม (Bryl cream) ยี่ห้อครีมแต่งผม เธอเขียนว่า "บริลครีม" เธอคงออกเสียงถูก แต่ทว่าในเมืองไทยเรียกอย่างที่ผมว่า แต่ประเด็นที่น่าชื่นชมคือชื่อเรื่องภาษาไทย "มาริษาราตรี" คำว่า มาริษา เคยได้ยินเป็นชื่อผู้หญิง นักร้องมีชื่อบางคนในยุคนั้นก็ชื่อนี้ แรกผมนึกว่าแปลว่าดอกมะลิ แต่เมื่อผมไปค้นพจนานุกรมไทยของราชบัณฑิตยสถานก็ไม่มีคำแปล ต้องไปค้นพจนานุกรมบาลี จึงพบคำว่า มาริส ภาษาบาลีแปลว่า ท่านผู้นิรทุกข์ คำนี้ก็คงเป็นต้นเค้าของคำว่า มาริสา หรือ มาริษา ก็เข้ากับเรื่องดี สรุปว่า ชื่อเรื่อง มาริษาราตรี ควรแปลความหมายว่า ผู้ไร้ทุกข์ในยามค่ำคืน ก็ตรงกับบุคคลิกของตัวละครเอกและเนื้อเรื่องที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในตอนกลางคืนให้หรรษาอยู่เสมอ.
ผมเชื่อว่า หนังสือสนุกเช่นนี้คงมีการตีพิมพ์ครั้งต่อไปอีกเรื่อยๆ เป็นแน่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการตอบรับของนักอ่านรุ่นต่อๆ ไป.

---
Note: This blog is my commentary on the Thai translation of the novel by S.P. Somtow: "Jasmine Nights".