Friday, December 13, 2013

ความเป็นเอกลักษณ์ของปัจเจกที่หายไปด้วยฝีมือองค์กรของรัฐ

ไม่กี่วันก่อน ผมไปพักผ่อนที่ ดอยอ่างขาง กับครอบครัว
น่าสนใจที่เผอิญพบว่า ที่นั่นก็มี โรงเรียนเทพศิรินทร์ ด้วยแฮะ มาแบบนี้อีกแล้ว
แต่ที่ผมประหลาดใจกว่า คือ เช้าวันรุ่งขึ้น ก่อนเวลาโรงเรียนเข้า เขาเปิดเพลงเชียร์ มาร์ชชมพูฟ้า ของสวนกุหลาบวิทยาลัย ออกลำโพงลั่นไปทั้งหุบเขา ได้ยินไปถึงโรงแรมผมที่อยู่บนเขา !  อ้าว เทพศิรินทร์ สีเขียวเหลืองนี่นา ? เปิดทำไม โรงเรียนสาขาอยู่ใน หรือรู้จักจตุรมิตรด้วยหรือ ? การ implement อะไรมันจะวุ่นวายปนเปกันอย่างนั้น !

ผมเขียนบันทึกนี้ด้วยความเห็นหลายๆ อย่างที่ปนๆ กันอยู่ แต่ที่ต้องพูดให้ชัดก่อนคือ ผมไม่ได้รู้สึกว่า เป็นเจ้าเข้าเจ้าของสถาบัน หรือยึดมั่นถือมั่นอะไร ผมปฏิบัติธรรมมามาก แม้ผมเป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย การได้ยินเพลงโปรดที่สมัยเมื่อ สี่สิบกว่าปีก่อนได้ยินทุกเช้าก่อนเดินแถวเข้าห้องเรียนสมัยมัธยม ที่สวนกุหลาบวิทยาลัย ถนนตรีเพชร ย้อนนำความฮึกเหิมเล็กน้อยกลับมา ผมรู้สึกรื่นเริงที่ได้ฟังเพลงนั้น แต่ความคิดที่เกิดขึ้นวันนั้นมันปนๆ กันอยู่ ไม่ทราบว่าจะเขียนออกมาได้ครบถ้วนกระบวนความหรือไม่ และคนอ่านจะเข้าใจเจตนาผมได้ถูกต้องหรือไม่

แรกที่เดียว ผมอยากจะพูดในเรื่องหนึ่งที่คนไทยดูจะไม่เคยกล้าพูดกันมาเลยหลายสิบปีมาแล้ว คือเรื่องที่กระทรวงศึกษาถือสิทธิ์ไปสร้าง franchise โรงเรียนดังหลายๆ แห่งในกรุงเทพฯ ด้วยการไปเปิดสาขาโรงเรียนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ เอง และ ที่ต่างจังหวัด ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สวนกุหลาบ สตรีวิทย์ เตรียมอุดม เทพศิรินทร์ ฯลฯ

ผมไม่อยากจะตำหนินโยบายในอดีตว่า บางโรงเรียนเขาเป็นโรงเรียนพระราชทาน ที่ในหลวงองค์ก่อนๆ พระราชทานนามมา สัญญลักษณ์สถาบันก็อีก บางโรงเรียนท่านก็เสด็จมาเปิดเองเลย เป็นโรงเรียนของท่าน ไม่ทราบว่าในยุคที่เริ่มเปิดโรงเรียนชื่อเหมือนนั้น มีใครเคยขอพระราชทาน พระราชานุญาตกันหรือเปล่า หรือว่าทำโดยถือสิทธิว่าเป็นหน่วยราชการจะทำอะไรก็ได้ เอาละ เวลาก็ผ่านมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ป่วยการจะไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ ประเด็นนี้ก็พับไป

แต่ผมว่าประเด็นหลักที่สำคัญกว่า คือ ตอนนี้ผมอยากรู้ว่า เท่าที่ผ่านมาหลายสิบปีนั้น กระทรวงศึกษาเพียงแค่เอาชื่อ franchise นั้นไปหลอกชาวบ้านทั่วประเทศหรือเปล่า มาตราฐานของโรงเรียน(น้อง)ในต่างจังหวัด ทำได้ดีเหมือนโรงเรียนหลักหรือเปล่า ผมว่านี่เป็นเรื่องซีเรียส คนไทยติดแบรนด์กันมาก สุดท้ายกระทรวงฯ ดูเหมือนว่าต้องตกกระไดพลอยโจนหลอกชาวบ้าน และชาวไทยก็ดูเหมือนจะทำเป็นลืมๆ ไปเหมือนกัน ที่ลูกหลานตัวเองไปเข้าโรงเรียน"สาขาในเครือ" ต่างๆ นั้น ทั้งๆ ที่เป็นแค่โรงเรียนชื่อเหมือน (นี่ยังไม่ได้ยืดประเด็นไปถึงมหาวิทยาลัยสาขานะ)

นอกจากมาตราฐานการศึกษาพอจะเป็นสิ่งที่พอจะจับต้องได้ และตรวจสอบได้แล้ว หากต้องการตรวจ (แต่ผลเป็นอย่างไรนั้น สาธารณชนไม่เคยรับทราบ ไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์) มันยังมีเรื่องอื่นอีก ซึ่งก็สำคัญ แต่เป็นเรื่องเชิงนามธรรม แง่ความรู้สึก "จิตวิญญาณ" ประเพณี ความผูกพัน การบ่มเพาะสปริต ความรักเกียรติของสถาบันและชื่อเสียงของโรงเรียน เคารพรักครูเก่าๆ (ความรักนี้เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีและความดี ดังนั้นจึงไม่มีเหตุการณ์นักเรียนไปตีกันเหมือนพวกโรงเรียนอาชีวะ ที่เปลี่ยนแค่ชื่อมาเป็นวิทยาลัยบางแห่ง) ความผูกพันของศิษย์เก่าที่แวะเวียนมาช่วยเหลือ ความภูมิใจที่ไม่เสื่อมคลายแม้ผ่านไปหลายสิบปีแล้ว ความผูกพันที่บางครอบครัวเรียนโรงเรียนหนึ่ง กับครูประจำชั้นคนเดียวกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อจนถึงรุ่นลูก ผมอยากจะเชื่อว่า โรงเรียนที่ชื่อเหมือนโรงเรียนต้นแบบนั้น คงทำประเด็นนี้ไม่ได้ อาจจะพยายามทำแต่คงทำไม่ได้เหมือน

ส่วนผลกระทบของคนในสังคมส่วนหนึ่งที่เขาเป็นศิษย์เก่าสถาบันต้นแบบ ก็ไม่เคยมีใครกล้าพูดมาก่อน
ผมอาจจะยกอุปลักษณ์ หรือ อุปไมย (metaphore) หน่อยก็ได้ ในรูปแบบของคำถาม ที่สถานการณ์คล้ายๆ กันว่า คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าวันหนึ่งไปเจอใครก็ไม่รู้ที่ต่างถิ่น มีชื่อเดียวกัน นามสกุลเดียวกัน กับญาติผู้ใหญ่ของคุณ แล้วไปทำเรื่องเสียหายขึ้นมา ? (ต้องบอกก่อนว่า กรณีอุปไมยนี้เป็นเรื่องจริง มีมาแล้วกับผม ประสบการณ์ที่เจอ จึงไม่ใช่เรื่องตลก)

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมอ่านบทความเกี่ยวกับ นีทเช่ เขาพูดประมาณว่า  "รัฐทำให้ความเป็นปัจเจกสูญหายไป" ผมเริ่มเห็นด้วยกับเขา ผมรู้สึกว่า การทำ franchise สถาบันการศึกษาขึ้นมานี้ เป็นแค่นโยบายลูบหน้าปะจมูก ซึ่งทำลายเอกลักษณ์ของแต่ละสถาบัน ทำลายความเป็นปัจเจกของแต่ละหน่วยย่อยที่ดีงามของสังคม ให้ทุกอย่างดูเหมือนว่าดี(หรือเลว)เท่าๆ กัน แบบมีความเสมอภาคกัน ตอนนี้ในใจผมตั้งคำถามว่า ที่ทำไปแล้วในอดีต มันถูกต้องดีแล้วหรือ ที่หน่วยงานรัฐทำ mass franchise  ดูเหมือนว่าตั้งใจหลอกคนในสังคม ผลลัพท์คือเป็นการทำให้ความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสิ่งที่ดีงามหายไปหมด จะดีกว่าไหม ถ้าหากในอนาคต หันมาส่งเสริมให้แต่ละแห่งแต่ละที่มีความเป็นเอกลักษณ์ความดีของตัวเอง และให้เขาบ่มเพาะเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเองขึ้นมา บ่มเพาะความเป็นเลิศขึ้นมา สั่งสมประเพณีที่ดีงามขึ้นมา ทำไมต้อง mass production สถาบันการศึกษาอย่างกับโรงงานอุตสาหกรรม หรือภัตตาคารแดกด่วน (แต่ทำไม่ได้มาตราฐานเดียวกันเป๊ะแบบภาคธุรกิจ) หรืออย่างกับหลักสูตร ที่เลวเท่ากันหมด ... (เอ้อ เรื่องนี้เอาไว้ก่อน)

จบแค่นี้ก่อนดีกว่า









No comments: