Wednesday, March 05, 2014

พื้นที่ภายในขนาดใหญ่ไว้สำหรับคนเดิน


อ่านบทความที่สัมภาษณ์ Norman Foster ผู้ออกแบบอาคารใหญ่ๆ สำคัญๆ ทั่วโลกหลายแห่ง เช่น สนามบินกรุงปักกิ่ง ในประเทศจีน และ อาคารสำนักงานใหญ่ของแอปเปิล ที่ Cupertino, California
แล้วรู้สึกชอบ ลิงก์ที่นี่


วันนี้ผมอยากจะเขียนสิ่งที่อยู่ในใจผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลังจากผมตามข่าวเขามาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ก่อน สตีฟ จ๊อบส์ เสียชีวิต

อาคารของแอปเปิลที่กำลังสร้าง มีแนวคิดน่าสนใจ คือ มีพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ตรงกลาง ทำเป็นสวนผลไม้ ซึ่งสะท้อนอดีตของแคลิฟอเนียร์ และเป็นศูนย์กลางของชุมชนพนักงานกว่า ๑๒๐๐๐ คน รายรอบไปด้วยสำนักงานอาคารรูปวงแหวนขนาดยักษ์ประดับกระจก ๔ ชั้น สำหรับชั้นแรก มีร้านอาหารอยู่เป็นช่วงๆ อาคารนี้ออกแบบให้คนเข้าถึงกันได้ มีปฏิสัมพันธ์กัน และมีบรรยากาศส่งเสริมให้คนมีการร่วมมือกัน ไม่ได้มีการแยกเป็นอาคารย่อยๆ ซึ่งนอกจากคนเข้าถึงได้ยากแล้ว ยังไม่ประหยัดพลังงานอีกด้วย ลานจอดรถซ่อนไว้ใต้ดิน ภายใต้สนามหญ้า ส่วนรอบๆ อาคารปลูกเป็นสวนป่า มีทางเดินให้คนเดินปรึกษาหารือและครุ่นคิดได้ และมีทางสำหรับคนวิ่งจ๊อกกิ้งออกกำลังกาย

ผมรู้สึกอยากเห็นคนสร้างอาคารใหญ่ที่มีมโนทัศน์แบบของเขาในเมืองไทยบ้าง ผมย้อนนึกถึงมหาวิทยาลัยในเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันนี้ส่วนมากมีรถยนต์จอดเกะกะไปหมด ดูรกตา อาคารใหญ่บ้างเล็กบ้างกระจายตัวอยู่อย่างไม่ค่อยมีแบบแผน และไม่มีความงามทางสถาปัตยกรรม หรือหากมีก็ไม่สอดคล้องกันเท่าไรนัก ถนนภายในเต็มไปด้วยรถยนต์นับพันๆ คันของนักศึกษาจอดตามถนนแน่นไปหมด ตรงกลางก็มีการจราจรติดขัด พ่นควันออกมา นักศึกษาและอาจารย์ต้องเดินลัดเลาะไปตามช่องว่างระหว่างรถที่ติดหรือจอดอยู่ ดูไม่มีสุนทรียภาพเสียเลย (นึกถึงสถาบันเก่าของผมแถวสามย่านแล้วก็สลดใจ สมัยเมื่อ ๓๐ ปีก่อนนั้น ไม่ค่อยมีรถยนต์ บรรยาการสงบกว่านี้มาก)

สมัยเมื่อผมเรียนอยู่ในอเมริกา ที่มหาวิทยาลัยผม ที่แคนซัสสเตท แม้จะมีนักเรียนกว่า ๑๕๐๐๐ คน เขามีมโนทัศน์ว่า อาคารจะต้องประดับผนังด้วยแผ่นหินทรายทั้งหมด จะทั้งแคมปัสจะต้องเป็นวิทยาเขตคนเดิน (walking campus) คือในบริเวณแกนในของมหาวิทยาลัยนั้น ไม่อนุญาตให้รถยนต์เข้าไปจอด (เว้นแต่รถส่งของ) ลานจอดรถ อยู่จัดสร้างไว้รอบๆ ตรงประตูมหาวิทยาลัยแต่ละด้าน ผมชอบบรรยากาศแบบนั้นมาก และเท่าที่ผมรู้ ไม่มี walking campus มากนักในเมืองไทย

ขอพูดนอกประเด็นนิดหนึ่งว่า ผมชื่นชมผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลในยุคไม่กี่ปีมานี้ ที่ทำวิทยาเขตศาลายาจนน่าอยู่ขึ้นมาก ปลูกต้นไม้และจัดสวนสวยงาม จนบรรยากาศเหมือนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ผมต้องขอขอบคุณท่านมา ณ ที่นี้ ผมเองรู้สึกดีใจ ที่มีผู้สานต่อคณาจารย์รุ่นบุกเบิกหลายท่าน ที่สมัยก่อนต่างลงทุนลงแรงไปปลูกต้นไม้กันเองไว้แยะ ผมเองก็มีส่วนปลูกไว้บ้างในบางพื้นที่ ในที่สุดผมก็ได้เห็น แคมปัสสีเขียวน่าอยู่น่าเรียนที่คณาจารย์รุ่นต่อมาพัฒนาต่อมา



No comments: