ข่าววันนี้ออกมาว่า ซีพี ผู้ได้รับใบอนุญาต (ไลเซนส์) ดำเนินกิจการ ร้านค้าปลีก 7-11 ในประเทศไทย กำลังดำเนินการเพื่อจะซื้อกิจการ Macro ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยราคาสูงลิ่ว ถึง ๑๘๘,๐๐๐ ล้านบาท สะกิดใจผม
ในส่วนตัวผม ก็เห็นว่า การที่บริษัทของ "คนไทย" จะได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท "ต่างชาติ" ก็ดูมีผลดี (แม้ว่าผลเสียซึ่งก็อาจจะมี คนไทยก็ยังไม่ได้คิดกัน) โปรดสังเกตเครื่องหมายคำพูดที่ผมใส่ไว้ด้วย เพราะว่ามันมีนัยที่ซ่อนอยู่ แต่ว่าผมจะงดไม่พูดในที่นี้
อย่างไรก็ดี ผมสังเกตประเด็นจากข่าวที่อ่านเจอว่ามีเนื้อความที่ขาดหายไปจากข่าวนั้น หากว่าไปเทียบเนื้อความกับข่าวคล้ายๆ กัน คือข่าวการควบรวมกิจการ หรือซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัทข้ามชาติในต่างประเทศที่ผมเคยผ่านตามา สิ่งที่หายไปนั่นก็บอกอะไรผมบางอย่าง และนั่นก็คือ ความจริงที่ว่าเมืองไทยเราไม่มีมาตราการการตรวจสอบ หรือกลไกป้องกันการผูกขาดตลาด
เท่าที่เคยได้อ่านมามาก ในต่างประเทศ เมื่อบริษัทใหญ่ๆ จะเข้าซื้อกิจการของคู่ค้า ทำให้เกิดการผูกขาดเกิดขึ้น ครอบครองตลาดเกินว่า 80% (ถ้าจำไม่ผิด) จะต้องมีการตรวจสอบ ทั้งในสหรัฐ หรือ ในยุโรป บางบริษัทใหญ่มากเกินไปยังโดนสั่งให้ขายกิจการออกไปบางส่วนเสียด้วยซ้ำ
ที่ผมพูดมานี้ ไม่ได้มีเจตนาต่อต้านการขยายกิจการของบริษัทเอกชน แต่ทว่า เราต้องยอมรับความจริงว่า บริษัทเอกชนมีวัตถุประสงค์หลักคือทำกำไร การกระทำของบริษัทเอกชนบางกรณี อาจจะส่งผลกระทบต่อสังคมได้มาก ยิ่งบริษัทใหญ่มากก็ยิ่งมีผลกระทบมาก และอาจจะรุนแรง สังคมต้องมีการรับรู้และให้ความเห็น และถ้าสังคมจะโดนกระทบ สังคมต้องมีกลไกที่จะยับยั้งการดำเนินการบางอย่างได้ หรือกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติ
หลายสิบปีก่อน เมืองไทยไม่เคยมีบริษัทใหญ่ๆ มากนัก แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว ผมคิดว่า ควรที่เราจะต้องคิดว่าต้องเริ่มคิดถึงกลไกป้องกันการผูกขาดกันแล้ว
No comments:
Post a Comment