Friday, October 26, 2012

อันเนื่องมาจากคำตัดสินลงโทษนักวิทยาศาสตร์ของศาลอิตาลี


ข่าวในวงการวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจก็คือ ข่าวว่านักวิทยาศาสตร์ (จริงๆ คือ geophysicists / seismologists  ) ๖ คน โดนศาลอิตาลีพิพากษาสั่งจำคุกคนละ ๖ ปี และปรับ เมื่อคิดเป็นเงินไทยก็กว่า ๓๐๐ ล้านบาท กรณีเกิดแผ่นดินไหวอย่างแรงเมื่อปี ๒๕๕๒ (ค.ศ. ๒๐๐๙) ที่เมือง L'Aquila ในประเทศ อิตาลี แล้วชาวเมืองก็โวยวาย หาว่าไม่เตือน ทำให้คนพวกนี้โดนจับ ศาลบอกว่า ความผิดคือ คำกล่าวของคนเหล่านี้ทำให้ประชาชนนอนใจว่าจะไม่เกิดแผ่นดินไหวร้ายแรงขึ้น แต่แล้วก็เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ทำให้เสียหายหนักทั้งทรัพย์สิน และมีคนเสียชีวิตสูงถึง ๓๐๙ คน
วารสาร Nature ซึ่งเป็นวารสารสำคัญกำลังเรียกร้องให้นักวิทยาศาตร์ทั่วโลกออกมาประท้วงคำพิพากษาดังกล่าว ว่าไม่เป็นธรรม
ผมเขียนถึงเรื่องนี้ไม่ได้จะประท้วงอะไรร่วมกับเขา แต่จะหยิบประเด็นมาพิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

จากข่าวนี้ ชาวต่างประเทศ บางคนให้ความเห็นกันว่า ศาลอิตาเลียนตอบรับกับกระแสกดดันของสังคมท้องถิ่นที่ต้องหาแพะรับบาปเพื่อลงโทษ จากหายนะภัยธรรมชาติร้ายแรงที่เกิด เป็นการทำให้สังคมพอใจ บางคนก็บอกว่า ความแข็งแรงของสิ่งก่อสร้างในเมืองเก่าแก่ของอิตาลีไม่เท่ากับเมืองในแคลิฟอเนียร์ ในสหรัฐฯ

ผมมองว่า ในกรณีของอิตาลี มีการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับสังคมภายนอกวงการวิชาการ

เมื่อนักวิทยาศาสตร์พูดถึงความเสี่ยง (risk) ผมเข้าใจเอาว่า นักวิทยาศาสตร์ส่วนมากมักพยายามจะทำตัวแบบอนุรักษ์นิยม (conservative) ตัดปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวแปรทิ้งไปทั้งหมด เพื่อให้ได้ข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ตามสมมุติฐานของเขา ความหมายในที่นี้ก็คือ ประมาณการให้ต่ำไว้ก่อนเพื่อไม่ให้เปลืองตัว พวกเขาทำอย่างนี้เป็นประจำจนเป็นเรื่องปกติในการรายงานผลการทดลองวิทยาศาสตร์ แม้ว่าเขาอาจจะมีลางสังหรณ์บางอย่าง มีสัญชาตญาณบางอย่าง มีความชอบบางอย่าง (เช่น ชอบแบบจำลอง) มีความไม่ชอบบางอย่าง (เช่น ข้อมูลดิบบางชิ้นอาจดูไม่น่าเชื่อถือ แต่เขาก็ไม่กล้าตัดออกไป) เมื่อเขาเขียนรายงาน เขาต้องตัดสินใจและมักตัดเรื่องความชอบส่วนตัวออกไป ส่วนหนึ่งก็เพื่อไม่ให้ตัวเองโดนวิพากย์วิจารณ์จากผู้อ่านที่ตรวจสอบงานของเขาและบรรณาธิการ 
แต่ว่า เมื่อพวกเขาให้ข่าวกับสังคม มีปัจจัยนอกเหนือกว่านั้น ที่เขาต้องพิจารณาด้วย เช่น มุมมองจากความเข้าใจของสังคม ประโยชน์ของสังคม ต้องชั่งน้ำหนักกัน ระหว่าง การให้คำแนะทำที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ของสังคม กับ การให้คำแนะนำเชิงวิชาการแบบอนุรักษ์นิยมตามความเคยชิน

ผมรู้สึกขอบคุณ นักวิชาการไทยหลายท่าน ที่ออกมาพูดบางเรื่อง ในการเตือนภัยให้กับสังคม แต่แล้วท่านก็โดนตำหนิ ผมคงไม่ต้องเอ่ยนามถึงใคร ผมเพียงอยากให้นักวิชาการส่วนมากที่เหลือเข้าใจประเด็นว่า การสื่อสารกับบรรดานักวิชาการด้วยกันนั้นเป็นอย่างหนึ่ง  แต่การสื่อสารกับสังคมนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง และนักวิชาการจะต้องพูดโดยใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องในการสื่อสารสองแบบนี้

No comments: