Saturday, July 11, 2009

ความไร้ระเบียบในสังคมไทย

เมื่อคืนผมขับรถกลับบ้านช้าไปอีกสองชั่วโมงเพราะรถติด เป็นเรื่องผิดปรกติ เพราะปกติตอนทุ่มกว่าๆรถจะว่างแล้ว แต่เมื่อวานมีการประท้วงโดยกลุ่มไหนก็ไม่ทราบ ข้างกระทรวงการคลัง และไปปิดถนนพระรามหก ตรงหัวถนนที่จะเข้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ผมรู้สึกว่าตามปกติที่จับลมหายใจอยู่ก็จะโอเค แต่เมื่อวานมันไม่ค่อยจะโอเค ใจกระสับกระส่าย และในใจก็นึกตำหนิทั้งกลุ่มผู้ประท้วง และตำรวจที่เป็นผู้ดำเนินการ และจัดการจราจร โดยไม่ทำอะไรสักอย่าง ทำให้รถนับหมื่นๆคน และประชากรหลายหมื่นคนต้องเดือนร้อน
คนใกล้ตัวผมก็ไม่สบายแต่ก็ขับรถกลับทางนั้นเหมือนกันก็แทบแย่ กลับถึงบ้านก็อาเจียรหลายรอบ และนอนซมต่อไปทั้งคืน
ผมเขียนมานี้ไม่ได้โกรธอะไรแล้ว แต่ก็อยากจะจดเหตุการณ์นี้ไว้ว่า มันเกิดในสังคมไทยเป็นประจำ และเกิดบ่อยปีละหลายๆครั้ง แต่บังเอิญที่ผมก็รอดสันดอนมาได้ทุกครั้งจนกระทั่งเมื่อวานถึงมาเจอกับตัวเอง
ทำไมคนต้องใช้อารมณ์ ออกมาประท้วง พูดกันดีๆด้วยเหตุผลไม่ได้หรือ ถ้าหน่ายงานรัฐไม่ทำ ก็ยื่นฟ้องศาลปกครองไป หรือหน่วยงานอื่นๆก็มีให้ยื่นตั้งแยะ
ทำไมตำรวจไม่กล้าจัดการ เพราะเขาก็ต้องป้องกันตัวเอง ทำอะไรลงไปก็โดนเล่นงาน เลยไม่ทำดีกว่า
นักการเมืองก็ไม่กล้า เพราะเก้าอี้รัฐบาลก็ไม่ได้แน่นหนาอะไร มีการพยายามหาทางล้มโดยบุคคลบางกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ตัวเองเรื่อยๆ
วิธีแก้คือต้องแก้ความคิดความเคยชินในสังคมไทยเสียใหม่ อะไรที่ไม่ถูกไม่ควรต้องเลิกเสีย เช่น ไม่ชอบอะไรก็ออกมาปิดถนนประท้วง หรือ เรื่องรับเงินซื้อเสียงจากนักการเมือง เป็นต้น แต่คงต้องไปทำกับเด็กรุ่นใหม่ คนรุ่นปัจจุบันทำอะไรไม่ได้แล้ว
ผมคิดว่า ต้องไปแก้ที่รากเหง้า คือการศึกษาของเด็กไทย
ตำราเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลและประถมของไทยจะต้องสอนเด็กรุ่นใหม่ ว่าอะไรถูก อะไรไม่ถูก อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรที่ผู้ใหญ่ทำไม่ดี อย่าไปเอาอย่าง อะไรคือหิริ อะไรคือ โอตัปปะ เพื่อปรับค่านิยมของเขาให้ถูกต้อง ให้มีคุณธรรม มีจริยธรรม และความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มากกว่าผู้ใหญ่ในรุ่นนี้

ถ้าคุณธรรมของเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้รับการแก้ไขให้้ดีขึ้น บ้านเมืองในอนาคตคงจะแย่ลงๆ

ในส่วนตัวผมตอนนั้นก็มองว่า ผมก็รับวิบากกรรมไป พอนึกได้อย่างนี้ก็สบายใจ ใช้กรรมไปเสีย จะได้หมดๆไป กลับถึงบ้าน แม้จะขมับเต้นตุบๆปวดศรีษะ แต่ก็รู้สึกมีความสุขเมื่อถึงบ้าน ยิ้มแย้มแจ่มใจ เพราะเรามีสัมมาสติ และมีสัมปชัญญะ

Tuesday, July 07, 2009

๔๐ ปี อพอลโล ๑๑


วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ (ค.ศ. ๑๙๖๙) เป็นวันที่นักบินอวกาศสองคนจากยาน อพอลโล ๑๑ ไปลงบนดวงจันทร์ ถึงวันนี้ก็กำลังจะครบ ๔๐ ปีในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ตอนนี้ก็เริ่มมีข่าวต่างประเทศพูดถึงเรื่องนี้ เลยจะรำลึกความหลังเสียหน่อย

เวลาผ่านไปเร็ว เชื่อว่าคนส่วนมากไม่ได้ร่วมประสบการณ์ในเรื่องนี้ ผมก็เลยอยากบันทึกไว้

ในตอนนั้นผมยังเรียนประถมอยู่ ดูเหมือนจะ ประถมปีที่ ๖ (คนอ่านไม่ต้องมาคำนวณอายุคนเขียนได้ไหม) ข่าวคนจะไปลงดวงจันทร์เป็นครั้งแรกนั้น เป็นข่าวใหญ่กันทั่วโลก และนักเรียนก็ตื่นเต้นกันมาก วันนั้นงดการเรียนการสอนไป เพราะจะมีการถ่ายทอดสดจากดวงจันทร์มายังโลก และถ่ายทอดต่อจากอเมริกามายังประเทศได้ด้วย เป็นเรื่องใหญ่มากในตอนนั้น ทางโรงเรียนผม (พันธศึกษา ซอยมิตตคาม สามเสน) ก็จัดการเอาโทรทัศน์ตัวใหญ่(ขาวดำ สมัยนั้นยังไม่มีทีวีสี) มาต้ังบนยกพื้นสูงท่วมหัว ใต้อาคารเรียนหลัก (พื้นเป็นซิเมนต์) พวกเราดูเหมือนจะนั่งเก้าอีไม้ที่ขนมาจากห้องเรียนต่างๆ มาจัดเรียงไว้ใต้ถุนตึก เด็กเป็นร้อยๆคนก็เฝ้าดูการถ่ายทอดสดด้วยความใจจดใจจ่อ ผมยังจำภาพขาวดำวันนั้นได้ดี ก็เป็นภาพการลงดวงจันทร์ที่เห็นได้จากทีวีหรือแหล่งอื่นๆที่เก็บภาพวีดีโอนั้นไว้นั่นเอง แม้จนทุกวันนี้

ผมยังจำได้ว่า หลังการลงดวงจันทร์ ก็มีข่าวต่อไปอีกว่า นักข่าวฝรั่งไปสัมภาษณ์คนโน้นคนนี้หลังคนไปลงบนดวงจันทร์ ส่วนหนึ่งก็ไปถามคนจีนแก่ๆที่ฮ่องกง ว่า ไหนคนจีนเชื่อว่ามีเทพธิดาบนดวงจันทร์ไง มนุษย์อวกาศไปลงแล้วก็ไม่เห็นเจอ อาม่าแกก็บอกว่า ก็มนุษย์อวกาศแต่งตัวน่ากลัว เทพธิดาบนดวงจันทร์คงจะกลัว เลยไปแอบเสีย ไม่ออกมาทักทาย อนึ่ง นักข่าวฝรั่งก็ยังวิพากย์ต่อไปว่า ปกติคนจีนต้องมีประเพณีไหว้พระจันทร์ทุกปี ต่อไปนี้ เมื่อรู้ว่าไม่มีเทพธิดาบนดวงจันทร์ พวกเขาก็อาจจะค่อยๆเลิกประเพณีไหว้พระจันทร์นี้ไปก็ได้

หลังจากเหตุการสำคัญครั้งนั้นแล้ว หลายเดือนต่อมา ผมก็ซื้อหนังสือไว้ด้วยหนึ่งเล่ม เป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงดวงจันทร์คราวนี้ เล่มละ 6 บาท แต่ก็พอๆกับค่าขนมผมวันหนึ่งเลยละ อาจจะเป็นหนังสือเล่มแรกๆของผมที่ผมซื้อด้วยค่าขนมตัวเองก็ได้ (จวบจนแก่ปูนนี้ ตอนนี้ก็เลยมีเป็นหลายๆพันเล่มแล้ว) โพสต์รูปหน้าปกไว้แล้ว สภาพไม่ดีนักแต่ก็ยังอยู่เป็นเล่มอยู่

อีกอย่างก็คือ พวกเราที่ชอบสะสมแสตมป์กันก็ต้่องไปขวนขวายหาแสตมป์อเมริกัน ดวงที่เป็นที่ระลึกการลงดวงจันทร์ครั้งนั้นไว้มาด้วย ผมก็ยังเก็บไว้

(This blog recall the day 40 years ago when I was a primary school student in Bangkok watching global television broadcast on the first man on the moon event)