อนุสนธิจากวันก่อนที่ได้หนังสือมา ๒ เล่ม ส่งมาให้จากมติชนเป็นของกำนัลแด่สมาชิกวารสารศิลปวัฒนธรรม เขาส่งมาให้เป็นประจำทุกๆปี มีเล่มหนึ่งหนาหน่อย พลิกๆดูเป็นเรื่องเกี่ยวกับส้วม อ่านดูคร่าวๆจึงได้ความรู้ใหม่ว่า
คำว่าส้วมนั้น ทางอีสาณเดิมใช้หมายความว่า ห้องนอนลูกสาว คือเป็นห้องพิเศษเฉพาะ อาจจะเล็กๆ แต่ปัจจุบันนี้ความหมายที่คนรับรู้กันกลายเป็น เว็จ ซะนี่ คนภาคกลางคงเป็นห้องเล็กๆเหมือนกันละมัง
จากคำนี้ ทำให้ผมนึกไปไกลถึงคำอื่นๆอีกหลายคำที่เคยได้ยินมา
ภาษาไทยเนี่ย คนที่ฟังหูไม่กระดิกใช้ผิดกันแยะ อย่างคำว่า รุ้ง หมายถึงนกเหยี่ยวชนิดหนึ่ง อย่างเช่นในกลอนเรื่องพระอภัยมณีที่ว่า "เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา" คนก็ไปนึกว่าเป็นรุ้งกินน้ำเสียฉิบ
คอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำ แย่จริงๆ
มีคำไทยอยู่หลายๆคำ ที่คนปัจจุบัน ใช้สลับความหมายกับที่คนโบราณเคยใช้ไปแยะ อย่างคำว่า แพ้ เนี่ย สมัยก่อนแปลว่าชนะ ซึ่งตรงข้ามกับคำว่าพ่าย
คำนี้ตอนหลังคนเข้าใจมากขึ้น ต้องขอบคุณหนังเรื่อง สุริโยทัย และก็นักพากย์กีฬาทั้งหลาย ที่พยายามใช้คำว่าพ่ายกันมากขึ้น
อีกอย่างที่นึกได้ก็ คำว่าวันหน้า กับวันหลัง วันหน้าคือวันที่ยังมาไม่ถึง วันหลังนั้นผ่านไปแล้ว คนที่ใช้สลับกันก็ยังมีแยะ เช่นถ้าเราชวนเพื่อนไปกินข้าว เพื่อนยังไม่ว่างก็ผลัดไว้ก่อน อาจจะบอกว่า "เฮ้ย เอาไว้วันหลัง" แบบนี้ก็ผิด แต่เป็นอันรู้กันว่าเขาหมายความถึงผลัดไว้วันหน้า
อีกคำ ผมมักได้ยินจากชาวไทยเชื้อสายจีน หลายคนชอบใช้คำว่า เช้าๆ แทนความหมายว่า เร็วๆ อย่างเช่นพูดว่า "วันนี้นอนเช้าๆหน่อยสิ" แทนที่จะพูดว่า วันนี้นอนเร็วหน่อยสิ หรือไม่ก็ วันนี้นอนแต่หัวค่ำสิ
หรือภรรยาบอกสามีก่อนออกไปทำงานตอนเช้าว่า วันนี้กลับบ้านเช้าหน่อยนะ ก็เป็นอันได้ผล เจ้าประคุณสามีคงจะกลับมาบ้านเช้าวันรุ่งขึ้นแน่นอน ผิดความประสงค์ของอาซ้อผู้เป็นภรรยา
ตอนนี้ความหายเลยเลือนไปแล้ว ใครฟังแล้วไม่รู้อาจจะนึกว่า คำว่าเช้าแปลว่าค่ำไปแล้ว
No comments:
Post a Comment