ในรอบสองเดือนที่ผ่านมา ผมได้รับจังก์เมล์ หรือ เมล์ขยะหลายฉบับ จาก ไฮไฟฟ์ ส่วนมากทำเป็นว่าส่งจากใครต่อใคร (ซึ่งเป็นคนที่ผมไม่เคยรู้จักเลย) จำได้ว่ามีฉบับเดียว ที่อ้างว่า ส่งมาจากอดีตนักศึกษาปริญญาโทของผม เชิญผมไปเป็นสมาชิกไฮไฟฟ์ ผมคลิ๊กลบเมล์พวกนั้นทั้งหมดโดยไม่ได้คิดอะไรมากนัก ความจริงก็อยากรู้จักมันเหมือนกันแหละ แต่กลัวเสียเวลา เวลาผมยิ่งมีน้อยๆอยู่ (และยิ่งน้อยลงๆทุกๆขณะ) ผมเชื่อว่าเมล์พวกนี้ส่งมาโดยไฮไฟฟ์โดยอัตโนมัติ และผมถือว่าเป็นสแป็ม และคิดว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจมาก ที่มีธุรกิจใดใช้กลยุทธการตลาดแบบสแปม มาวันนี้ไปอ่านเจอบทความออนไลน์จากประชาชาติ (ลิงก์ข้างบน) ทำให้ผมอธิบายได้ว่า ทำไมอัตราเพิ่มจำนวนผู้ใช้ในไทยของบริษัทนี้ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นไทย จึงแยะมาก (รวมลูกผมเข้าไปด้วย)
ผมไม่อยากขัดคอการหาความสุขของเด็กๆจากสิ่งเร้าภายนอก ตอนนี้ที่พวกเขายังไม่รู้จักกับความสุขภายในโดยไม่ต้องอาศัยส่ิงเร้า ตอนนี้ปิดเทอมก็ปล่อยไปก่อน สมัยผมเด็กๆ เมื่อสี่สิบปีก่อนนั้น ผมก็เคยโดนคุณพ่อและคุณแม่ผมคอยดูแลตักเตือนเรื่องการดูโทรทัศน์ไม่ให้มากเกินไปบ่อยๆ แต่ตอนน้ันผมก็ไม่ได้ขัดอะไรท่าน แต่เด็กสมัยนี้ถ้าเตือนเข้าก็มักจะโวยวายกลับ และแสดงอาการโกรธเกรี้ยวออกมาอย่างออกนอกหน้า ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร ปลงเสียแล้ว ต้องมารับวิบาก(ทางอภิธรรมคำว่าวิบากนี้หมายถึงผลของการกระทำ ทั้งดีและไม่ดี) เป็นพ่อคน
ผมคิดว่าเรื่องแสดงอาการก้าวร้าวของเด็กสมัยนี้เป็นเพราะผลกระทบจากละคอนโทรทัศน์บ้านเรา ที่ผู้จัดชอบทำบทเว่อร์ๆออกมาให้้เห็นบ่อยๆ อย่างเช่น ในบทอาจจะให้พระเอกพูดจาสามหาวตะคอกใส่กับบิดา อย่างที่คนไทยส่วนมากในชีวิตจริงเขาไม่ทำกัน เป็นต้น การแสดงอารมณ์ที่ผู้กำกับจงใจทำออกมาให้สะใจตนเองและคนดูนั้น คนจัดคงหารู้ไม่ว่าผลกระทบนั้นมันจะไปตกอยู่กับเด็นรุ่นใหม่ ที่โตมาก็เห็นแต่การแผดเสียงและใส่อารมณ์กันทางละคอนโทรทัศน์กันแบบไม่มียับยั้งเป็นปรกติวิสัย และก็ไม่มีใครจะคิดหรือจะกล้าเซ็นเซอร์ (ผมเลยไม่ดูเลยละครทีวี) ผมเคยคิดเล่นๆว่า ผลกระทบของลครโทรทัศน์กับบุคคลิกของคนไทยรุ่นใหม่ที่แสดงออกแบบก้าวร้าวขึ้นนั้น น่าจะอธิบายปรากฎการณ์ได้ด้วยการประยุกต์แนวคิดจากทฤษฎีทางพันธุศาสตร์ประชากรของฮาร์ดีและไวน์เบอร์กมาใช้ได้ นั่นคือพฤติกรรมการแสดงออกของคนส่วนน้อย(ในละครทีวี) มีผลต่อพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ในสังคมในรุ่นต่อไป
สำหรับลูกหลานผม ผมก็ได้แต่หวังในใจว่า เมื่อเด็กๆโตขึ้น เขาก็จะค่อยๆรู้ว่า อะไรที่มันเวอร์ไปก็ต้องลดลงบ้าง ทั้งการแสดงอารมณ์ ที่เมื่อเขามีวุฒิภาวะสูงขึ้น ก็คงจะควบคุมอารมณ์ให้ดีได้เองมากขึ้น และเรื่องการใช้เวลาหลงไปกับสื่อต่างๆนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาก็อาจจะเบื่อเอง แล้วก็จะลดลง หรือเมื่อเขามีเหตุผลมากขึ้น และรู้จักการบริหารเวลามากขึ้น ก็คงจะลดลง ทุกอย่างมันเป็นอนิจจตาทั้งหมดนั่นแหละ มีจุดเริ่ม ก็ต้องมีจุดสิ้นสุด ผมเองตอนนี้ก็เริ่มเบื่ออินเทอร์เน็ตเข้าไปมากขึ้น มันเลยจุดสูงสุดมาแล้ว
เอ ตอนแรกจะบ่นเรื่องไฮไฟฟ์ทำไมวกไปเรื่องวัยรุ่นก็ไม่รู้แฮะ
No comments:
Post a Comment