ทำไมพระท่านถึงให้พยายามตามรู้กายและจิตบ่อยๆ (กายานุปัสสนา และ จิตตานุปัสสนา) ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดสติขึ้นเอง พระอาจารย์ปราโมทย์ ท่านเคยสอนไว้นานมาแล้วว่า
สติที่เกิดขึ้นได้เองนั้นคือ มหากุศลจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้น คือดวงที่ชื่อ โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ แปลชื่อเป็นไทยได้ว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยปัญญา
ผมก็มาทำความเข้าใจและคิดตามเอาเองเพิ่ม ก็ได้ความเข้าใจเพิ่มเติมว่า ความจริงน่าจะรวมถึงดวงที่ ๕ ด้วย คือ มหากุศลจิตดวงที่ชื่อ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ แปลชื่อเป็นไทยได้ว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา ทั้งนี้ก็เพราะทั้งมหากุศลจิตดวงที่ ๑ และดวงที่ ๕ สองดวงนี้ต่างเป็นอสังขาริกจิต ไม่ต้องการอะไรมาเป็นตัวเหนี่ยวนำชักชวน จิตย่อมมีกำลังพอ เมื่อเกิดก็มีขนิกสมาธิสั้นๆ และ องค์ประกอบเจตสิกทั้งสองดวงจิตก็คล้ายกัน และก็ไปคล้ายกับกับ โสดาปัตติมรรคจิตดวงที่ ๑ เว้นเสียแต่ว่ามรรคจิตดวงนี้ และมรรคจิตดวงอื่นๆ ๒ ถึง ๕ ตลอดจนโลกุตตรจิตดวงอื่นๆทั้งหมด ไม่มีอัปปมัญญาเจตสิกสอง แต่มีวิรตีเจตสิกสามแทน โลกุตรจิตจึงไม่มีเรื่องสัตว์บุคคลเราเขาอยู่ในอารมณ์ และโลกุตรจิตก็เป็น ณาณจิต นั่นคือสมาธิต้องลึกกว่า ถีงระดับอัปปณาสมาธิ เป็นณาณที่ ๑ ในกรณีของจิตดวงที่ ๑ (และเป็น ณาณที่ ๒ ถึง ๕ ในจิตดวงต่อๆไป)
การตามรู้บ่อยๆที่พระอาจารย์ปราโมทย์สอน ก็คือให้เป็นการซ้อมไว้นั่นเอง ซ้อมไปๆทุกๆนาทีที่มีโอกาส หวังว่าวันหนึ่งกระแสจิตมันจะได้องค์ธรรมเจตสิกพอดี ก็ได้ โสดาปัตติมรรคจิตตัดฉับ นั่นคือความปรารถนาอันสูงสุด
แต่ปราถนาย่อมไม่ได้ เพราะนิพพานคือ วิราคะ แปลว่า ไม่ปราถนา
แหม ช่างเป็น พาราด๊อกส์เสียจริงๆ
No comments:
Post a Comment