Sunday, May 31, 2009

Book review (in Thai): Buddhist Philosophy

วันนี้เพิ่งไปได้หนังสือเล่มนี้มา

“พุทธปรัชญา มองพุทธศาสนา ด้วยทรรศนะทางวิทยาศาสตร์” โดย พันเอก สมัคร บุราวาศ
พิมพ์ครั้งที่ ๔ สำนักพิมพ์ ศยาม

หนังสือเล่มนี้ ท่านผู้เขียนซึ่งวายชนม์ไปแล้ว ผู้เป็นอดีตราชบัณฑิต เขียนขึ้นตั้งแต่ก่อนผมเกิดเสียอีก และพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖

ก่อนอื่นผมอยากทบทวนความจริงที่ว่า เมืองไทยสมัยก่อนนั้น คนไทยเราที่จะเข้าใจศึกษาพระธรรมกันในเชิงลึกนั้น มีน้อย ไม่เหมือนสมัยนี้ การศึกษาพระอภิธรรมน่าจะยังไม่เกิดใหม่ (หลังเสียกรุงศรีอยุธยาไปแล้วเกือบสองร้อยปี พระธรรมาจารย์ชาวพม่าท่านอาจจะกำลังเข้ามา หรือเพ่ิงเข้ามาสอนในเมืองไทย สมัยจอมพล ป. ตามคำนิมนต์ของพระพิมลธรรม วัดมหาธาตุ ท่ามกลางการคัดค้านจากผู้มีอำนาจในบ้านเมืองในขณะนั้น เป็นผลให้พระพิมลธรรมโดนจับ สึก และคุมขังอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ก่อนจะได้ปล่อย และคืนสมณศักดิ์ หลายปีต่อมาในภายหลัง) ส่วนท่านพุทธทาสก็คงเป็นที่รู้จักของคนในสังคมไทยตอนน้ันไม่นานนัก หนังสือเล่มนี้จึงถือว่าเป็นหนังสือที่สำคัญเล่มหนึ่งของคนไทยในสมัยเมื่อ ๕๕ ปีก่อน และดูเหมือนท่านจะใช้สอนที่มหามกุฏฯด้วย ในสมัยนั้น มีความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ให้พื้นฐานจนเรามาถึงทุกวันนี้

แต่เมื่อมาพิมพ์ซ้ำ ห้าสิบปีต่อมา ตอนนี้ ผมอ่านดูแล้วก็เห็นว่ามีประเด็นอะไรที่ให้ข้อมูลพอสมควร และตอนนี้เราก็มีหนังสืออะไรๆมากขึ้น ก็มีจุดที่อยากจะให้ข้อสังเกตส่วนตัวไว้ ในเนื้อหาของหนังสือเก่าเล่มนี้

ที่ผมอยากแสดงความเห็นวิจารณ์เนื้่อหาหนังสือเล่มนี้ ไว้ในบล๊อกนี้ ก็เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านเยาวชนในอนาคต แต่โดยความเคารพในความเป็นบูรพาจารย์ของผู้เขียน ก็คือผมมีความรู้สึกว่า ผู้เขียนท่านเขียนในสไตล์หนังสือประวัติศาสตร์พุทธปรัชญา ไม่ใช่ปรัชญาอย่างเดียว และก็ไม่ใช่หนังสือวิทยาศาสตร์อีกด้วย และการเขียนนั้น ก็แสดงในมุมมองของฝรั่งเป็นหลัก คงจะเป็นว่าสมัยน้ัน หลังสงครามโลกครั้งที่สองเสร็จหยกๆ คนไทยเรายังรู้สึกยกย่องฝรั่งผู้ชนะสงครามมากอยู่ ความคิดฝรั่งเป็นของดี เรื่องภูมิปัญญาล้ำลึกของคนตะวันออกยังไม่รู้สึกกันนัก
และผมกะเอาว่า ในตอนน้ัน หนังสือพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยของอาจารย์สุชีพ อาจจะยังไม่ได้พิมพ์เผยแพร่ก็ได้ ดังนั้น ท่านผู้เขียน แม้จะเป็นบุคคลร่วมสมัยกับ อ. สุชีพ ท่านจีงหันไปอาศัยข้อมูลจากหนังสือของ เนห์รู เป็นพื้นฐานในการเขียนอธิบายพุทธปรัชญา ค่อนข้างหนัก และอาจจะอาศัยหนังสือฝรั่งเล่มอื่นๆ ด้วยก็ได้ ท่านคงไม่ได้มีโอกาสอ่านพระไตรปิฎก (ภาษาไทยหรือบาลีก็ตาม) เพราะสิ่งที่ท่านนำมาอ้างนั้นเป็นสำนวนฝรั่งทั้งนั้น และเนื้อหาไม่ตรงพระสูตร และหากดูจากจับความรู้สึกจากการอ่านระหว่างบันทัดของผม ผมรู้สึกว่า ท่านผู้เขียนไม่ได้ให้ความสำคัญ เชื่อถือ หรือสนใจเนื้อหาในพระไตรปิฎกมากนัก เพราะถือแบบฝรั่งว่า พระไตรปิฎกก็เป็นประหนี่งตำนานปรัมปรา ที่โดนพระอรรถกถาจารย์ในยุคหลัง (แต่ก็คือ ๑๕๐๐ ถึง ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว) แต่งคัมภีร์อธิบายเพิ่มเติมจนฝรั่งไม่เชื่อว่าจะตรงคำสอนเดิมของพระพุทธองค์เป๊ะ ตลอดจนเรื่องราวต่างๆทางประวัติศาสต์ นักปรัชญาฝรั่งก็ไม่เชื่อว่าถูกต้องทุกอย่าง (เพราะฝรั่งไม่รู้จักศีล ๕ เรื่อง มุสาวาทา เวรมณี ว่าพระภิกษุในพุทธศาสนาเคร่งครัดขนาดไหน)

อีกเรื่องหนี่งที่ผมอ่านแล้วผมก็ไม่เห็นด้วยกับหนังสือก็คือ ผมเองไม่ถือว่าคำสอนของพุทธศาสนาเป็นปรัชญา แต่ใครที่เป็นนักวิชาการศาสนา จะถือว่าเป็นปรัชญา ก็เป็นเรื่องของท่าน ตามปัจเจกบุคคลไป ตามสะดวก

ให้ความเห็นแค่นี้ก่อน

No comments: