Wednesday, November 08, 2017

New version of English translation: Mind is the Buddha

I have revised my Thai to English translation of "Mind is the Buddha" or "Mind is the Enlightened One" after re-listening to the old voice record of the venerable Luangpoo Dule. The new translation version 1.4 is displayed in bilingual format. The PDF is at GotoKnow HERE.

จิตคือพุทธะ ของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หรือ พระราชวุฒาจารย์

Friday, May 19, 2017

มาริษาราตรี

วันนี้อยากจะเขียนบันทึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเพิ่งอ่านจบ ไม่ได้จะรีวิว เพราะไม่มีภูมิพอ แค่จะให้ความเห็น บันทึกความรู้สึก(ของนักอ่านวัย ๖๐ ) แค่นั้นเอง

มาริษาราตรี แปลจาก Jasmine Night ของ S.P. Somtow (หรือ สมเถา สุจริตกุล), แปลเป็นภาษาไทยโดย ถ่ายเถา สุจริตกุล, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๘ สำนักพิมพ์มติชน, (แรกตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารแพรว ถึง ๕๒ ปักษ์ หรือกว่า ๒ ปี ก่อนรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๓๙) แต่ดูเหมือนมีการตีพิมพ์หลังจากนี้หลายครั้งแล้ว.

ปกติผมไม่อ่านนวนิยาย, นอกเหนือจากหนังสือหรือบทความวิชาการ มักอ่านสารคดี (non-fiction) เป็นหลัก. มาริษาราตรี เป็นหนึ่งในหนังสือไม่กี่เล่มที่เป็นข้อยกเว้น, ส่วนหนึ่ง ที่ซื้อมาก็ด้วยชื่อเสียงของผู้ประพันธ์, ซึ่งนักวิจารณ์ยกย่องกันมากในอังกฤษและอเมริกา. เล่มนี้ ผมซื้อมาหลายเดือนแล้ว ไปเจอโดยบังเอิญจากร้านมือสอง แต่ถ้านับจากปีที่พิมพ์ครั้งที่ ๒ หนังสือเล่มนี้ก็อายุราว ๑๘ ปี. เป็นนวนิยายที่แปลจาก Jasmine Night ของ สมเถา สุจริตกุล ซึ่งคนแปลเป็นคุณแม่เขา.


สมเถาเป็นนักประพันธ์ระดับโลก, ศึกษาในประเทศอังกฤษ ได้รับรางวัลมากมาย, แน่นอนว่าเขาแต่งได้ดีมาก, อ่านแล้วขำตลอด. เรื่องที่เขียนนั้น, เขาเขียนในฐานะนักเขียนฝรั่ง, เจตนาเขียนเป็นนวนิยายให้คนหนุ่มสาวฝรั่งอ่าน. มีบทไล่ปล้ำกันบ่อย น่าจะติดเรต R เด็กฝรั่งอ่านได้แต่ผู้ใหญ่ไทยก็อ่านดี.

เนื่อเรื่อง เกิดในราว พ.ศ. 2500-2506 ฉากคือกรุงเทพฯ ในยุคนั้น เรื่องราวส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ชีวิตเขาซึ่งเป็นเด็กไทยที่เติบโตและศึกษาในต่างประเทศ มีจินตภาพมาก ติดใจวรรณกรรมกรีก ความคิดแฟนตาซี พระเอกตัวละครในเรื่องซึ่งเป็นเด็กไทยอายุ ๗ ขวบ มีช่วงหนึ่งกลับมาอยู่พระนครกับญาติผู้ใหญ่ไฮโซชาวไทยห่างไกลจากพ่อแม่ ชีวิตเขามีแต่เรื่องผจญ ซุกซนแบบเด็กฝรั่ง มีเรื่องโอละพ่อตลอด ความสนุกของเรื่องอยู่ที่ฉากหักมุมต่างๆ ในชีวิตของเด็กที่ไม่เคยรู้ "เรื่องของผู้ใหญ่" และกำลังโตเป็นวัยรุ่น จนอายุ ๑๓ ปี ถึง "เสียหนุ่ม" แม้หนังสือจะเล่มค่อนข้างโต แต่เดินเรื่องเร็ว อ่านได้เรื่อยๆ แทบวางไม่ลง.

ในฐานะที่ผมเป็นคนร่วมสมัยกับผู้เขียน อายุอาจจะอ่อนกว่าผู้แต่งไม่กี่ปี เลยสังเกตเห็นและจับผิดเรื่องปลีกย่อยในฉากได้แยะ สิ่งต่างๆ อยู่ผิดกาลเวลาไปบ้าง เช่น เมืองไทยยุคนั้นตามยังสี่แยกไม่มีไฟแดง มีแต่ตำรวจจราจรสวมหมวกพลาสติกคล้ายหมวกกะโล่โบกรถ รถเก๋งต่างๆ รวมทั้ังแท็กซี่ก็ไม่มีแอร์ปรับอากาศมีแต่กระจกหูช้างไว้กวักลมเข้า เดือนมกราคม เมืองไทยยังอยู่ในหน้าหนาว (และสมัยนั้นกรุงเทพฯ อุณหภูมิตอนเช้า ๑๐ องศา ซ.) ยังไม่มีมะม่วงสุกออกมาบนต้น และ ฯลฯ แต่พวกนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย คนเขียนตั้งเป้าให้ฝรั่งอ่านก็คงต้องใส่ลงไป ไม่งั้นก็ไม่มีบรรยากาศตะวันออก และเมืองไทยอาจจะดูล้าหลังเกินไปในสายตาของคนอ่านฝรั่ง อีกเรื่องก็เขาที่พูดถึงสงครามเวียดนาม ซึ่งอันที่จริงอเมริกาเข้าสงครามเวียดนามเต็มตัวในยุคประธานาธิบดีจอห์นสัน แต่ในบทประพันธ์เป็นเรื่องเล่าเหตุการณ์สมัยประธานาธิบดีเค็นเนดี้ และจอมพลสฤษดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งอยู่ช่วงเวลาก่อนหน้ายุคของประธานาธิบดีจอห์นสันอยู่ไม่กี่ปี ทหารอเมริกันยังไม่เข้ามาเมืองไทยมากนัก. ที่ผมพูดถึงเรื่องพวกนี้ เพราะต้องการจะหมายเหตุข้อเท็จจริงในเชิงประวัติศาสตร์เอาไว้เทียบ ไม่ได้จะติเรื่องราวในนวนิยาย.

ผมเข้าใจว่าผู้แต่งคงตั้งใจฝากประเด็นเรื่องการแบ่งแยกชนชั้นเอาไว้ให้เยาวชนคนอ่านชาวตะวันตกได้คิด, ทั้งระหว่างชาวตะวันตกเจ้าอาณานิคมและชนพื้นเมืองจากเหตุการณ์ในโรงเรียนนานาชาติสมัยนั้น, ระหว่างชนชั้นสูงในสังคมตะวันออกและคนรับใช้ จากสภาพความเป็นอยู่หรูหราในครอบครัวขุนนางไทยของตัวละคร, และสีผิว (คนผิวดำ คนผิวสี และ คนผิวขาว) ช่วงเวลานั้นทหารอเมริกันมีทหารผิวดำเข้าประจำการและมีนายทหารผิวดำด้วย (สมัยนั้นคำนี้ไม่ถือว่าไม่เหมาะสม แม้ตอนนี้นิยมใช้คำว่า อัฟริกันอเมริกัน หรือไม่ก็ใช้รวมๆ กับชาวเอเชียและฮีสแปนิก ที่แปลกันว่า ผิวสี แต่ผมขอใช้คำในบริบทของยุคเก่าก็แล้วกัน) ผมเดาว่า ที่เขาพูดถึงสงครามเวียดนามเพราะต้องการสร้างตัวละครเด็กผิวดำขึ้นมาผูกเรื่องความขัดแย้งระหว่างเด็กเชื้อชาติต่างๆ ในโรงเรียนนานาชาติ ผมเชื่อว่าเยาวชนตะวันตกที่อ่านน่าจะได้ข้อคิดกลับไปว่า พวกเขาไม่ควรจะแบ่งแยกเรื่องเหล่านั้น. คนตะวันตกไม่ได้เหนือกว่าชาวเอเชียและชาวผิวดำ ประเด็นนี้อาจจะจับใจนักวิจารณ์หนังสือฝรั่งก็ได้.

ผู้แปลคือคุณ ถ่ายเถา สุจริตกุล, คุณแม่ของผู้แต่ง, เป็นสตรีมีการศึกษา และเป็นภริยาฑูต ถ้าเทียบวัยก็อยู่ในวัยเดียวกับมารดาของผม ช่วงนี้คงอยู่ในวัย ๙๐+ ปี อีกทั้งท่านฑูต ดร. สมปอง, บิดาของผู้แต่ง, ก็คอยติชมสำนวนแปลอยู่ด้วย จึงทำให้การแปลสำนวนเป็นไทยดีมากทีเดียว ผมคิดว่าสำนวนแปลและเรียบเรียงของคุณถ่ายเถาดีกว่าสำนวนแปลนิยายสมัยนี้ แต่เนื่องจากเธออาศัยอยู่ต่างประเทศเป็นหลัก บางคำที่ถอดเสียงออกมาก็เขียนไม่ตรงกับที่คนไทยในยุคนั้นออกเสียง เช่น ไบรล์ครีม (Bryl cream) ยี่ห้อครีมแต่งผม เธอเขียนว่า "บริลครีม" เธอคงออกเสียงถูก แต่ทว่าในเมืองไทยเรียกอย่างที่ผมว่า แต่ประเด็นที่น่าชื่นชมคือชื่อเรื่องภาษาไทย "มาริษาราตรี" คำว่า มาริษา เคยได้ยินเป็นชื่อผู้หญิง นักร้องมีชื่อบางคนในยุคนั้นก็ชื่อนี้ แรกผมนึกว่าแปลว่าดอกมะลิ แต่เมื่อผมไปค้นพจนานุกรมไทยของราชบัณฑิตยสถานก็ไม่มีคำแปล ต้องไปค้นพจนานุกรมบาลี จึงพบคำว่า มาริส ภาษาบาลีแปลว่า ท่านผู้นิรทุกข์ คำนี้ก็คงเป็นต้นเค้าของคำว่า มาริสา หรือ มาริษา ก็เข้ากับเรื่องดี สรุปว่า ชื่อเรื่อง มาริษาราตรี ควรแปลความหมายว่า ผู้ไร้ทุกข์ในยามค่ำคืน ก็ตรงกับบุคคลิกของตัวละครเอกและเนื้อเรื่องที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในตอนกลางคืนให้หรรษาอยู่เสมอ.
ผมเชื่อว่า หนังสือสนุกเช่นนี้คงมีการตีพิมพ์ครั้งต่อไปอีกเรื่อยๆ เป็นแน่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการตอบรับของนักอ่านรุ่นต่อๆ ไป.

---
Note: This blog is my commentary on the Thai translation of the novel by S.P. Somtow: "Jasmine Nights".