Tuesday, May 10, 2016

บทเรียนจากนักเขียนระดับโลก ไอแซค อาซิมอฟ



ผมอ่านอัตตชีวประวัติของ Issac Asimov นักเขียนที่ผลงานมากที่สุดในโลก (ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด) ไปได้ครึ่งเล่มแล้ว
ผมชื่นชมเขามาก และเป็นแฟนหนังสือเขาหลายเล่ม แม้จะเสียชีวิตไปนานแล้ว เฉพาะที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือก็ราว ๔๗๐ เล่ม ทั้ง non-fiction และ นวนิยายวิทยาศาสตร์ (เป็นส่วนมาก)

นอกจากเก็บศัพท์ของเขาไว้ได้เผื่อใช้มั่งกว่า ๔๐ คำแล้ว ตอนนี้ได้บทเรียนสรุปที่ได้มาหลายอย่างจากนิสัยของ อาซิมอฟ น่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเองและคนที่อยากเขียนหนังสือ หรือ อยากเป็นนักเขียนบ้าง

เขาเขียนหนังสือทุกวัน ตั้งแต่เช้ายันค่ำ ได้ติดต่อกัน ๑๒ ชม. (เพราะเคยทำงานตั้งแต่ ๖ โมงเช้ายันตีหนึ่งในร้านลูกกวาดของพ่อ)

เขา enjoy การเขียนอย่างมาก
เขามี passion กับกระบวนการเขียน(พิมพ์ดีดหนังสือ) ตั้งแต่เริ่มคิดจนออกมาเป็นเล่ม เขาชอบ writing operation ชอบการเขียนดินสอบนกระดาษเปล่า ชอบการกดพิมพ์ดีด หรือชอบตอนตัวหนังสือปรากฏบนจอภาพของ word processor เขาไม่อยากทำอะไรอื่น เขานั่งพิมพ์งานได้ ๑๒ ชม. ติดต่อกัน เขาเขียน(พิมพ์)เมื่อไรก็ได้ ถ้ามีเวลาแค่ ๑๕ นาทีก็พิมพ์ได้ ๑ หน้าแล้ว เขาไม่ยอมเสียเวลา
เขาภูมิใจในการสร้างชื่อ พยายามทำลายสถิติจำนวนหนังสือตัวเอง เมื่องานเขาเริ่มติดตลาดแล้ว เขาตั้งใจผลิตหนังสือออกมาให้ได้ปีละ ๑๓ เล่ม เพราะตั้งใจผลิตหนังสือออกมาทำลายสถิติตัวเองไปเรื่อยๆ เช่นเคยท้าทายตัวเองว่า เพิ่งเขียนและตีพิมพ์ได้แค่ ๒๐๐ เล่มเอง ต่อมาก็ ๓๐๐ เล่ม ต่อมาก็ ๔๐๐ เล่ม ... 
 
เขาภูมิใจในความรู้ดีเยี่ยมของเขาที่อ่านมากรู้มากหลายสาขาปานประหนึ่งสารานุกรม 
 
เขาแนะว่า จะเป็นนักเขียนต้องเขียนแยะๆ ต้องคิดมากๆ แต่ละเรื่องควรมีบทตอนจบอยู่ในใจ
ถ้าเมื่อไรเกิด writer's block เขียนไม่ออก ก็ให้หันไปเขียนอย่างอื่นแทน เช่น บทบรรณาธิการ จดหมาย เขียนเรื่องในโปรเจ็คอื่นๆ ที่เขามีอีกเป็นสิบๆ เรื่องคาไว้
 
เมื่ออ่านงานของคนอื่น เขาสามารถมองเห็นรูปแบบ pattern ในเรื่องราว(วรรณกรรม)ที่เขาอ่านได้ (คล้ายกับนักหมากรุกที่เห็นแพ็ทเทอร์นในการเล่น ให้ชนะเกมส์) แต่เขาไม่มีความสามารถเห็นรูปแบบในการเล่นเกมส์ต่างๆ เลยเล่นไม่เก่ง และเขาก็บอกว่า เขาไม่สามารถเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมได้
 
เขาชอบเขียนในที่แคบๆ เปิดไฟ ปิดม่านไม่ให้แสงอาทิตย์ภายนอกเข้ามา หันหน้าเข้าหากำแพงเปล่าๆ ดังนั้นในการทำงาน แต่ละคนจะต้องหาให้ได้ว่าเราชอบบรรยากาศแบบไหนในการเขียน (ผมเคยอ่านเจอ นักวิชาการเรียกว่าเพื่อให้เกิด flow state)
 
คนเราอาจจะมี hidden talent ที่ยังไม่มีโอกาสแสดงออกก็ได้ (ถ้าไม่มีโอกาสลองสักครั้ง) เช่น เขาพบทีหลังว่าเขาเป็นนักพูดที่ดีมาก
 
เขาทำงาน อุตสาหะ (industrious) มีประสิทธิภาพ (efficient) ปฏิบัติเคร่งครัดต่อหลักศีลธรรมจรรยา (puritanical) และ มีสมาธิลึกมากในการทำงาน (deeply absorbed) (ตามคำบรรยายของ น้องชายเขา)
แม้ว่าเขาไม่นั่งเขียนอยู่ที่โต๊ะ สมองเขาก็ทำงานคิดเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องราว บทสนทนา ฯลฯ เขาจึงพร้อมจะนั่งลงเขียนอยู่เสมอ เพราะว่า มันเขียนเสร็จในหัวอยู่แล้ว ต้อง self-absorbed คิดเรื่องอยู่ตลอดเวลา ต้องให้แนวคิดเป็นระเบียบในหัวคนเขียนก่อน และการควบคุมความคิดให้ออกมาจนคนอื่นรู้ชัดว่าคุณต้องการจะพูด(สื่อความหมาย)ว่าอะไร
 
เขาบอกว่าคนที่จะเป็น prolific writer ต้องรักงานที่ตัวเองเขียน และไม่ต้องไปมัวแก้สำนวนอยู่นั่น เขาตรวจแก้แค่รอบเดียว และต้องไม่พยายามทำให้งานเป็นสำนวนวรรณกรรม
 
เขาบอกว่า มีงานเขียน(นวนิยาย) อยู่ ๒ แบบ งานเขียนแบบหนึ่งเปรียบได้กับกระจกสี mosaic ที่ประดับหน้าต่างตามโบสถ์ เป็นภาพต่างๆ ยากที่ตาจะมองผ่านทะลุออกไปได้ ได้แก่งานประพันธ์แบบเก่าและบทกวี งานเขียนอีกแบบเปรียบได้กับกระจกใส ที่คนแทบมองเนื้อกระจกไม่เห็นเลย แต่ทว่าเห็นภาพภายนอกหน้าต่างได้ชัดเจน อาซิมอฟบอกว่างานของเขาเป็นแบบหลัง
 
อาซีมอฟบอกว่า การเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ยากกว่าเขียนนิยายธรรมดา เพราะว่า ๑) ต้องสร้างภาพสังคมในอนาคตขึ้นมาก่อน ๒) ต้องสร้างพล๊อตให้เข้ากับบริบทสังคมนั้น และ ๓) การบรรยายสังคมในอนาคตต้องไม่กีดขวางการดำเนินเรื่องในพล๊อตและไม่ทำให้เรื่องอืดอาดลง


(เนื้อหาส่วนมากซ้ำกับที่ผมโพสต์ในเฟซบุ้คผม ต่างที่แก้สำนวนเล็กน้อยและฟอร์แม็ตเนื้อความ)