Sunday, August 28, 2011

บทส่งท้าย epilogue ?

ผมอยากจะบวชมาหลายปีแล้ว ภรรยาก็สนับสนุนมาหลายปี แต่ผมก็ลังเลๆ ถึงราวปี ๒๕๕๒ ศีล ๕​ ผมก็บริบูรณ์ 
จนมาปีที่แล้ว ๒๕๕๓ ก็เริ่มเข้าฌาน ได้ จิตก็เริ่มพัฒนามากขึ้น วิปัสสนาคล่องขึ้น สมถะก็ดีขึ้น
จนจิตใจเป็นพระเข้าไปทุกทีๆ 

ความรู้สึกก่อนบวช เมื่อปีที่แล้ว คิดว่า บวชก็ได้ ไม่บวชก็ได้ เพราะว่าก้าวหน้ามาถึงขั้นที่ปลอดภัยแล้ว เคยเห็นนิพพานมาแล้ว ประจักษ์แล้วว่ามรรคผลนิพพานมีจริง ต่อมาอีกหลายเดือนก็คิดว่า
อยู่เป็นฆราวาสกระทบอารมณ์กับคนอื่นมากเกินไป และเบื่อกิเลสตัวเอง
ที่เห็นๆ ก็อยากจะหักดิบมัน เราจะไปขั้นก้าวหน้ากว่านั้น จะตัดกามราคะและปฏิฆะ ตัดการปรุงแต่งของวิถีจิตจากปัญจทวาร หรือทวาร ๕  ก็ต้องเข้าป่า ไม่มีทางอื่น 
แต่ก็ยังลังเล สุดท้าย ต่อมาผมได้ขึ้นเขาไปยังที่แห่งหนึ่ง ไปกราบนมัสการพระอาจารย์รูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ทรงฌาน ผมหารือท่านว่า อยากจะบวช กราบเรียนท่านว่า ผมถึงขนาดไปสอบถามหลวงพ่อองค์หนึ่งจะขอให้ท่านเป็นอุปัชฌาย์แล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่ได้กำหนดวัน แต่ในใจบางครั้งก็ยังคิดว่าไม่สมควรทิ้งครอบครัวไป
ท่านอาจารย์ก็บอกว่า ถ้าเราคิดอย่างนั้น
ก็เท่ากับตำหนิพระพุทธเจ้าที่ทรงทิ้งครอบครัวไปบวชด้วยละสิ
และ ก็ต้องตำหนิองค์ท่านด้วย เพราะว่า ก่อนหน้าท่านจะบวชนั้น
ท่านเคยเป็นนักธุรกิจในกรุงเทพ เคยแต่งงานมาแล้ว ท่านยังตัดสินใจ สละทรัพย์สมบัติออกบวช
หลังจากคุยกับท่าน ผมก็เลยตัดสินใจว่าผมจะบวชแน่นอน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ถอยหลังอีก

ผมคิดว่า ผมออกบวช ผมน่าจะสงเคราะห์ทางธรรมให้กับสมาชิกในครอบครัวได้มากกว่า 
การจะช่วยคนอื่น เสมือนหนึ่งก่อนจะไปช่วยคนอื่นที่ตกน้ำ
เราต้องฝึกว่ายน้ำให้เป็น ฝึกว่ายให้แข็ง เสียก่อน การออกบวชก็เป็นแบบนั้น 
ในขณะเดียวกัน ครอบครัวก็น่าจะอยู่ได้ในเมือง โดยที่ไม่มีผม ทั้งทางการเงิน
และเรื่องอื่นๆ

เมื่อตัดสินใจแล้ว บางวันผมก็เริ่งร่า รู้สึกฮึกเหิม เสมือนหนึ่งทหารที่กำลังจะออกสู่สมรภูมิ ดีใจที่จะไปเป็นนักรบของพระพุทธเจ้า ออกรบกันกิเลสของตัวเอง จะถือเอาผ้ากาสาวะเพื่อมุ่งสู่พระนิพพาน จะปฏิบัติธรรมด้วยการอุทิศชีวิตเต็มที่ต่อไป แต่ก็มีบางวันอยู่บ้างที่ใจกังวลเล็กน้อย เป็นห่วงครอบครัว แต่ตัดสินใจแล้วก็ต้องลองดู ยังไงก็ต้องออกศึกษาธรรมในป่าสักพักหนึ่ง จะอยู่บ้านอีกไม่ได้ มีสถานการณ์รัดตัวหลายอย่าง รู้ตัวว่า ชีวิตเป็นของน้อย เวลาเหลือน้อย ต้องรีบดำเนินการ

อีกไม่กี่วัน เมื่อผมแปลงเพศเป็นนักบวชแล้ว ต่อไปก็คงไม่ได้มาเขียนบล๊อกนี้อีก และอีกไม่นานนัก สังคมโลก ชีวิตของคนและสัตว์ และพืช ก็คงเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก ทุกอย่างมีเกิดมีดับ เป็นธรรมดา ทุกคนในโลกนี้ เกิดมามีชีวิตอยู่ไม่นานก็ต้องสุดสิ้นไป เป็นธรรมดา ผมจะไม่อาวรณ์เรื่องในอดีตอีก การงานอะไรที่คาราคาซังไว้ก็จะตัดไปหมด ตั้งเป้าว่า เมื่อชีวิตนี้ของตนสิ้นสุดลง ก็คงจบชีวิตในมิตินี้เพียงเท่านี้ 

วันนี้ วันอาทิตย์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ตรงกับ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

เอวัง ฯ






Thursday, August 25, 2011

ทุกอย่างที่มีจุดเริ่มต้น ย่อมมีจุดสิ้นสุด

มีคำกล่าวว่า ทุกอย่างที่มีจุดเริ่มต้น ย่อมมีจุดสิ้นสุด เว้นไว้แต่พระนิพพาน

วันนี้ (ยังเป็นเมื่อวานนี้ คือ ๒๔ สิงหาคม ๒๐๑๑ ใน สหรัฐฯ) สตีฟ จ๊อบส์ ลาออกจากตำแหน่ง ซีอีโอ ของแอปเปิ้ล

ผมเห็นความเกิดมาแล้วก็ความดับไป รู้สึกสลดใจ

อีก ๗ วันต่อไป ก็ถึงคราวคนอื่นบ้าง สิ้นสุดฉากหนึ่งในชีวิตเฉกเช่นเดียวกัน แต่ในฐานะเพียงแค่คนตัวเล็กๆคนหนึ่ง






Tuesday, August 16, 2011

ช่วงนี้โลกมีแผ่นดินไหวระดับ ๕ ถี่มาก

ทั่วโลกมีแผ่นดินไหวระดับ ๕ ถี่มากช่วงนี้ จนน่าต้องระวังระไวในสัญญาณที่ธรรมชาติบ่งบอก ที่มากก็คือรอบวงแหวนแห่งไฟ (the ring of fire) รอบๆ มหาสมุทรแปซิฟิก ที่ดูอันตรายเพระเกิดถี่มากก็คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์
ภาพที่ถ่ายมาจากจอภาพเครื่องผม เป็นสถิติ ๗ วัน ณ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๔ ค.ศ. ๒๐๑๑ ใคร
สนใจไปดูสถิติปัจจุบันได้ที่ลิงก์ข้างบน


Sunday, August 14, 2011

The temple where Buddha's picture was taken 26 centuries ago





Yesterday, I visited "Wat Phutthachai" วัดพระพุทธฉาย , which means "the temple of the Buddha's radiated picture", in Saraburi province.  According to local legend and my vague memory, Lord Buddha visited this small mountain 26 centuries ago, then local people asked Lord Buddha how could people in future generations be able to see him again. So Lord Buddha was kind enough to magically created his image on the side of the mountain as a long lasting gift. This area was rediscovered in the Ayutthaya period, after monks who came back from Ceylon or Serendip (presently Sri Lanka) told a King that there was a story they heard from Ceylon about such place in the Thai kingdom so a kingdom-wide search was conducted which led to its discovery.
The image was worshipped by many Kings and Royalties in the past. It is a nice place and easier to visit, esp. now that an eastern by-pass highway was built. I drove by it several times, until I decided I had to stop to visit it this time.

ความก้าวหน้าโครงการสร้าง มหาวิทยาลัยสงฆ์ ชัยภูมิ



ผมเพิ่งไปเยี่ยมโครงการสร้าง มหาวิทยาลัยสงฆ์ จังหวัดชัยภูมิมา เพราะปีที่แล้ว ผมและคณะได้บริจาคเงินไปบางส่วน คราวนี้ได้ไปกราบนมัสการ พระราชภาวนาวราจารย์ รองเจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ ท่านมาดูแลการก่อสร้างและรอรับญาติโยมอยู่เกือบทุกวัน ในแต่ละวันท่านต้องเดินทางไปกลับจากวัดของท่านวันละ ๑๘๐ ก.ม. ไปกลับ ปราสาทดิน กลางวันที่แดดจ้าและมีความร้อนระอุจากไอแดด ท่านก็นั่งร้อนๆ อยู่ในศาลาเงียบๆ รอต้อนรับพุทธศาสนิกชนผู้มาทำบุญ ผมรู้สึกสงสารท่าน ท่านอายุมากแล้ว แต่ก็ไม่ได้พักในป่าเย็นสบาย ด้วยเมตตาสูงยิ่ง ทำอุทิศตัวท่านทำกิจที่ได้รับการอาราธนามาเพื่อส่วนรวมของสงฆ์

ผมถ่ายภาพมาหลายภาพ เห็นสร้างอยู่ ๒ อาคาร อาคารใหญ่เป็นอาคารเรียนและชั้นบนเป็นที่พัก อีกอาคารเล็กกว่า ผมเข้าใจว่าเป็นห้องสมุดและห้องพักเหมือนกัน ดูเหมือนว่าในโครงการจะมีทั้งหมด ๓ อาคาร ยังขาดเงินอีกมาก แต่พระท่านก็คงทำไปเรื่อยๆ ได้ฟังมาว่าพระท่านดำเนินการสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างเอง (ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของการสร้างวัดและศาสนสถานในบ้านเรา) ดังนั้น เชื่อว่าจะได้วัสดุก่อสร้างในราคาประหยัด คุ้มเงินบริจาค ใครผ่านไปชัยภูมิ ออกนอกเมืองไปสัก ๕ ก.ม. เลยสี่แยกด้านเหนือที่จะมุ่งไปทาง อช. ภูแลนคา เพียง ๑ ก.ม. กว่าๆ ก็ถึงโครงการ สามารถแวะไปบริจาคเงินทำบุญได้ ที่ศาลาเล็กๆ ด้านหลัง

Note: Visiting construction site for Chaiyaphum's (Buddhist Monk) Sangkha University.


วัดปราสาทดิน ในหน้าฝน

รอบๆ ปราสาทดิน อ. ภักดีชุมพล จ. ชัยภูมิ เป็นที่ปลูกป่าหลายร้อยไร่ มานานกว่าสิบปี หน้าฝน ป่าเขียวขจี ถนนเส้นสั้นๆบางส่วนที่ไม่มีรถวิ่ง มีมอสขึ้นเต็ม ตามพื้นป่ามีเห็ดนานาพันธุ์ขึ้นทั่วไป แม่ชีจะเดินไปเก็บเห็ดในแต่ละวันได้มาทำแกงได้เป็นหม้อใหญ่ เพื่อไปปรุงเป็นกับข้าวถวายพระ อุบาสิกาและโยมผู้ปฏิบัติธรรมในเช้าวันรุ่งขึ้น


อยากจะแอบบันทึกไว้ในบล๊อกส่วนตัวนี้ว่า ตัวผมเองได้เอาต้นไม้จำนวนหนึ่งติดรถไปปลูกไว้ด้วย เมื่อสองวันก่อน มีทั้งไม้ผล สมุนไพร กล้วยน้ำว้าพันธุ์ดี ที่ได้มาจาก ม.ก. กำแพงแสน  (เผื่อชาววัดเอาไว้รับประทาน สำหรับกล้วยคิดว่า ไม่กี่เดือนก็คงได้รับประทานแล้ว)